Google

Thursday, October 8, 2009

Citizen

พลเมือง

สถานภาพทางกฎหมาย ที่จะทำให้บุคคลมีเอกสิทธิ์และความรับผิดชอบจากความเป็นสมาชิกที่สมบูรณ์ในรัฐ สถานภาพของพลเมืองสามารถได้มาโดย 3 วิธี คือ (1) โดยที่เกิด (หลักดินแดน) หรือได้ความเป็นพลเมืองโดยสถานที่เกิด (2) โดยสายเลือด (หลักสายโลหิต) หรือได้ความเป็นพลเมืองโดยการเกิด คือกำหนดโดยความจงรักภักดีของบิดามารดา และ (3) โดยการแปลงสัญชาติ คือ การถ่ายโอนความจงรักภักดีอย่างเป็นทางการ

ความสำคัญ การมีสถานภาพของพลเมือง จะทำให้บุคคลได้หลักประกันว่าตนจะได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายและจากอำนาจของรัฐตน แต่พลเมืองก็จะมีหน้าที่ที่ต้องทำ เช่น เสียภาษีอากรแก่ประเทศของตนและเป็นทหารรับใช้ในกองทัพของประเทศตน กับจะมีสิทธิบางอย่าง เช่น สิทธิในการลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง และเมื่อไปอยู่ที่ต่างประเทศก็จะสามารถเรียกร้องขอรับการบริการจากคณะทูตและกงสุลจากประเทศตนได้ด้วย สถานภาพของพลเมืองอาจสิ้นสุดลงได้ด้วยเหตุผลที่แตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ แต่ว่าโดยทั่ว ๆ ไปแล้วการสิ้นสุดความเป็นพลเมืองเป็นไปได้ด้วยเหตุผลดังนี้ คือ (1) ไปพำนักอยู่ในต่างประเทศนานๆ (2) รับใช้รัฐต่างประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาต (3) กล่าวคำสัตย์ปฏิญาณว่าจะจงรักภักดีต่อรัฐอื่น และ (4) แปลงสัญชาติ บุคคลอาจมีความเป็นพลเมืองของสองประเทศได้ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับหลักกฎหมายของสองประเทศนั้น หรือที่เลวร้ายยิ่งกว่านั้นบุคคลอาจจะกลายเป็นบุคคลไร้สัญชาติได้ ซึ่งก็จะทำให้ไม่สามารถร้องขอความคุ้มครองจากประเทศใด ๆ ตามสิทธิของความเป็นพลเมืองได้

Citizenship : Alien

ความเป็นพลเมือง : คนต่างด้าว

บุคคลที่มิได้เป็นพลเมืองหรือมีสัญชาติของรัฐที่ตนเข้าไปพักพิงอยู่นั้น หลักการทั่วไปของกฎหมายระหว่างประเทศมีอยู่ว่า รัฐมีอำนาจอธิปไตยภายในและมีอิสระที่จะรับหรือจะขับไล่คนต่างด้าวได้ตามแต่จะเลือก รัฐต่าง ๆ จะขยายสิทธิพลเมืองส่วนใหญ่ที่ให้แก่พลเมืองของตนแล้วนั้น (ยกเว้นสิทธิทางการเมือง) ไปให้แก่คนต่างด้าวด้วย สิทธิของพลเมืองเหล่านี้โดยปกติ ได้แก่ (1) สิทธิเสรีภาพในการพูดและการนับถือศาสนา (2) สิทธิที่จะประกอบอาชีพการงานอย่างใดอย่างหนึ่ง (3) สิทธิที่จะทำสัญญา ถือครอง เป็นทายาท และโอนอสังหาริมทรัพย์ กฎหมายระหว่างประเทศได้ให้การรับรองในข้อแตกต่างระหว่างคนต่างด้าวประจำที่มีภูมิลำเนาอยู่ประจำกับคนต่างด้าวที่เข้าไปพักพิงอยู่ชั่วคราว คนต่างด้าวประเภทที่อยู่ประจำนั้นอาจจะต้องทำหน้าที่หลายอย่างเหมือนกับพลเมืองของประเทศนั้น ๆ อาทิ เสียภาษีอากรและเป็นทหารในกองทัพ เป็นต้น และเพื่อประโยชน์ของทางการ พวกเขาอาจจะถูกจำกัดสิทธิบางอย่างได้ อาทิ มีข้อผูกพันว่าจะต้องแจ้งให้รัฐบาลประเทศนั้น ๆ ได้ทราบเกี่ยวกับที่พำนัก และอาชีพการงาน เป็นต้น เป็นระยะ ๆ นอกจากนั้นแล้วคนต่างด้าวก็อาจจะถูกขับออกนอกประเทศได้ แต่ทั้งนี้มีเงื่อนไขกำหนดไว้ว่า การขับออกนอกประเทศจะต้องไม่เป็นการกระทำที่มีอคติต่อพลเมืองของต่างประเทศประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นการเฉพาะ

ความสำคัญ กฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของคนต่างด้าว ตลอดจนที่ว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของรัฐ กำลังอยู่ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อ คือ อยู่ในระหว่างดำเนินการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้เนื่องจากมีการเดินทางท่องเที่ยวและการคมนาคมติดต่อกันเพิ่มมากขึ้น เรื่องที่เป็นประเด็นโต้แย้งกันมากก็คือ ประเด็นที่เกี่ยวกับอคติต่อพลเมืองของประเทศนั้นประเทศนี้เป็นการเฉพาะในรูปของนโยบายการเข้าเมือง นอกจากนั้นแล้วจากผลของสงครามและการปฏิวัติ ก็จะทำให้พลเมืองเป็นจำนวนมากได้สถานภาพเป็นคนต่างด้าวประเภทผู้ลี้ภัยขึ้นมาได้ ปัญหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับคนต่างด้าวก็คือ คนไร้สัญชาติที่ไม่สามารถขอความคุ้มครองจากประเทศใด ๆ ได้ และกลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มใหญ่ ๆ ที่มักจะได้รับการปฏิบัติเป็นคนต่างด้าวทางวัฒนธรรม ในประเทศที่พวกเขาเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่นั้น

Citizenship : Dual Nationality

ความเป็นพลเมือง : การมีสองสัญชาติ

การที่บุคคลถือครองความเป็นพลเมืองของประเทศมากกว่าหนึ่งประเทศพร้อม ๆ กัน การมีสองสัญชาติสามารถเกิดขึ้นได้เมื่อบุคคลได้ความเป็นพลเมืองในประเทศหนึ่งโดยทางบิดามารดา (หลักสายโลหิต) แล้วไปได้ความเป็นพลเมืองในประเทศที่สองที่ตนเกิด (หลักดินแดน) อีก นอกจากนั้นแล้วการมีสองสัญชาติก็ยังเป็นผลมาจากการที่บุคคลเป็นพลเมืองโดยการเกิดในประเทศหนึ่งแล้วไปได้ความเป็นพลเมืองโดยการแปลงสัญชาติในอีกประเทศหนึ่งเพิ่มขึ้นมาด้วย ทั้งนี้ก็เพราะประเทศแรกไม่รับรองสิทธิของบุคคลที่จะสละความจงรักภักดีของตนไป

ความสำคัญ การมีสองสัญชาติกลายเป็นปัญหาขึ้นมาได้นั้นเนื่องจากว่าบุคคลผู้นั้นเดินทางไปมาระหว่างสองรัฐ ซึ่งแต่ละรัฐต่างก็อ้างถึงความจงรักภักดีที่บุคคลนั้นมีต่อรัฐตนโดยเหตุผลที่แตกต่างกัน เพราะฉะนั้นบุคคลผู้นั้นก็จึงมีสิทธิและหน้าที่สองชุดด้วยกัน ซึ่งสิทธิและหน้าที่บางอย่างในสองชุดนี้ก็จะมีความขัดแย้งกันได้ กระทรวงการต่างประเทศของประเทศทั้งสองมักจะพบว่าบุคคลผู้นี้มีหน้าที่ที่จะต้องไปเป็นทหารในประเทศใดประเทศหนึ่งหรือในทั้งสองประเทศพร้อม ๆ กัน ในกรณีที่ไม่มีข้อตกลงในเรื่องนี้เป็นการเฉพาะ การอ้างสิทธิของทั้งสองรัฐมักจะดำเนินการแก้ไขในทางที่จะเป็นคุณแก่รัฐที่มีเขตอำนาจโดยทางพฤตินัยเหนือบุคคลผู้นั้นจริง ๆ บุคคลที่มีสองสัญชาตินี้ ท่านผู้รู้แนะนำว่าควรจะได้ตรวจสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วนเกี่ยวกับสถานภาพของตนเสียก่อนที่จะเดินทางไปมาระหว่างสองรัฐที่อ้างถึงความจงรักภักดีที่แตกต่างกันนั้น

Citizenship : Expatriation

ความเป็นพลเมือง : การถอนสัญชาติ

การกระทำโดยรัฐบาลอันเป็นเหตุให้บุคคลถูกถอดถอนออกจากความเป็นพลเมือง ทั้งนี้จากการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งของบุคคลผู้นั้นเอง หรือจากการร้องขอของบุคคลนั้นก็ได้ การกระทำที่ใช้เป็นเหตุให้มีการถอนสัญชาติในประเทศต่าง ๆ ส่วนใหญ่ ก็คือ การที่บุคคลผู้นั้นได้ดำเนินการดังนี้ (1) กระทำสัตย์ปฏิญาณว่าจะจงรักภักดีต่อรัฐอื่น (2) เป็นทหารในกองทัพต่างชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต (3) ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งของต่างประเทศ และ (4) ประกาศสละความเป็นพลเมืองของตนในที่สาธารณะ สาเหตุสำคัญของการถูกถอนสัญชาติมักจะเป็นการกระทำโดยความสมัครใจของบุคคลผู้นั้นเองยิ่งกว่าจะเป็นการกระทำของฝ่ายรัฐบาล

ความสำคัญ บุคคลที่ถอนสัญชาติตนเองนั้น มักจะไม่ทราบว่าตนถอนสัญชาติไปแล้ว และเขาก็อาจจะไม่เข้าใจถึงผลที่จะเกิดขึ้นจากการกระทำของตนอีกด้วย เมื่อได้มีการถอนสัญชาติไปแล้วและยังไม่ได้มีการแปลงสัญชาติในประเทศอื่นใด บุคคลผู้นั้นก็จะกลายเป็นบุคคลไร้สัญชาติ ไม่สามารถ (1) มีที่พำนักถาวร (2)มีหนังสือเดินทาง และ (3) มีวีซ่าที่จะเดินทางไปยังประเทศต่าง ๆ กล่าวโดยย่อ ก็คือ บุคคลผู้นั้นไม่สามารถร้องขอความคุ้มครองในเรื่องของสิทธิจากรัฐใด ๆ ได้

Citizenship : Jus Sanguinis

ความเป็นพลเมือง : หลักสายโลหิต

หลักสายเลือด หรือหลักที่ว่าด้วยการเกิดที่ทำให้บุคคลได้ความเป็นพลเมืองตามบิดามารดา หลักสายโลหิตเป็นหนึ่งในสองหลักกฎหมายที่รัฐนำมาใช้เป็นแนวทางกำหนดความเป็นพลเมืองโดยการเกิด อีกหลักหนึ่ง ก็คือ หลักดินแดน

ความสำคัญ รัฐที่ปฏิบัติตามหลักสายโลหิต จะกำหนดเรื่องสัญชาติให้เป็นไปตามหลักของสายเลือดบิดามารดายิ่งกว่าหลักสถานที่เกิด ภายใต้หลักสายโลหิตมีตัวอย่าง เช่น ทารกที่เกิดมาโดยมีบิดามารดาเป็นคนสัญชาติอังกฤษ แม้ไปเกิดอยู่นอกเขตอำนาจตามกฎหมายสหราชอาณาจักรก็จะยังเป็นพลเมืองของสหราชอาณาจักร แม้ว่าหลักพื้นฐานที่สหราชอาณาจักรใช้คือหลักดินแดนก็ตาม ประเทศต่าง ๆ ในทวีปยุโรปส่วนใหญ่แล้วจะยึดหลักสายโลหิตนี้ทั้งนั้น

Citizenship : Jus Soli

ความเป็นพลเมือง : หลักดินแดน

หลักที่ว่าความเป็นพลเมืองของบุคคลได้มาจากสถานที่เกิด หลักดินแดนเป็นหนึ่งในสองหลักทางกฎหมายที่รัฐต่าง ๆ นำมาใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในการกำหนดความเป็นพลเมืองบุคคลโดยการเกิด อีกหลักหนึ่ง ก็คือ หลักสายโลหิต

ความสำคัญ หลักดินแดน คือ หลักของความเป็นพลเมืองที่มีการนำมาใช้ปฏิบัติโดยประเทศที่ประชาชนพูดภาษาอังกฤษ และประเทศในแถบละตินอเมริกาส่วนใหญ่ ยกตัวอย่าง เช่น ทารกที่เกิดภายในเขตอำนาจทางกฎหมายของสหรัฐอเมริกา ก็จะเป็นพลเมืองของสหรัฐฯ แม้ว่าบิดามารดาของทารกนั้นจะไม่มีสิทธิ์ได้ความเป็นพลเมืองของสหรัฐฯ ก็ตาม มีข้อยกเว้นเฉพาะทารกที่เกิดจากนักการทูตต่างประเทศ ที่เข้าไปทำงานอยู่ในประเทศที่ปฏิบัติตามหลักดินแดนนี้เท่านั้น

Citizenship : nationality

ความเป็นพลเมือง : สัญชาติ

สัมพันธภาพทางกฎหมายระหว่างบุคคลกับรัฐ ที่จะทำให้บุคคลสามารถร้องขอความคุ้มครองจากรัฐได้ และรัฐเองก็กำหนดให้บุคคลผู้นั้นต้องมีความจงรักภักดีและมีพันธกรณีบางอย่างต้องทำด้วย สัญชาติสามารถได้มาโดยการเกิดหรือโดยการแปลงสัญชาติ ซึ่งกฎเกณฑ์ของแต่ละวิธีจะแตกต่างในแต่ละประเทศ หลักการที่ว่าบุคคลสามารถถูกถอดถอนสัญชาติได้นี้ ได้เป็นที่ยอมรับกันในระบบรัฐในปัจจุบัน ส่วนวิธีถอดถอนสัญชาติที่รัฐต่าง ๆ ให้การรับรอง ได้แก่ (1) การสละสัญชาติ (ดีเนชั่นนอลไลเซชั่น) (2) การสละการแปลงสัญชาติ (ดีเนจอรัลไลเซชั่น) (3) การถอดถอนสัญชาติ (เอ็กแพตริเอชั่น) และ (4) การบอกเลิกสัญชาติ (รีนันซิเอชั่น)

ความสำคัญ สัญชาติบ่งบอกถึงการเป็นสมาชิกในรัฐ การขัดแย้งเกี่ยวกับเรื่องสัญชาติของบุคคลสามารถเกิดขึ้นได้ ระหว่างรัฐที่ยึดหลักสายโลหิตกับรัฐที่ยึดหลักดินแดน ในทำนองเดียวกัน การขัดแย้งก็ยังสามารถเกิดขึ้นได้ เมื่อคนที่เกิดในรัฐที่ยึดหลักว่าความจงรักภักดีที่ให้ต่อรัฐแล้วต้องให้เลยจะเรียกคืนไม่ได้นี้ได้ไปเป็นบุคคลที่แปลงสัญชาติของอีกรัฐหนึ่ง ด้วยเหตุที่บุคคลมีการเดินทางไปมาระหว่างรัฐต่าง ๆ มีจำนวนมากขึ้น ความขัดแย้งเกี่ยวกับปัญหาเรื่องสัญชาตินี้ก็จึงมีผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่าง ๆ ดังนั้นก็จึงมีความพยายามอย่างยืดยื้อและต่อเนื่องที่จะทำประมวลกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยเรื่องนี้อยู่ต่อไป

Citizenship : Naturalization

ความเป็นพลเมือง : การแปลงสัญชาติ

กระบวนการทางกฎหมายที่จะทำให้บุคคลเปลี่ยนแปลงความเป็นพลเมืองจากประเทศหนึ่งมาเป็นของอีกประเทศหนึ่ง รายละเอียดต่างๆในเรื่องนี้จะแตกต่างกันออกไปในแต่ละประเทศ แต่โดยปกตินั้นจะรวมถึงเรื่องการบอกเลิกความจงรักภักดีต่อรัฐเดิมอย่างเป็นทางการ แล้วมากล่าวคำให้สัตย์ปฏิญาณว่าจะจงรักภักดีต่อรัฐใหม่

ความสำคัญ การแปลงสัญชาติ เป็นวิธีการเดียวเท่านั้นที่จะทำให้บุคคลที่ไม่สามารถอ้างความเป็นพลเมืองของตนในรัฐใดรัฐหนึ่งโดยสิทธิจากการเกิด (หลักสายโลหิตและหลักดินแดน) สามารถได้ความเป็นพลเมืองในรัฐนั้นได้ พวกคนเข้าเมืองจากประเทศอื่นจะทำการแปลงสัญชาติโดยกระทำเป็นรายบุคคล ส่วนการแปลงสัญชาติเป็นหมู่คณะนั้น จะเกิดขึ้นได้ก็โดยสนธิสัญญาหรือการออกกฎหมายให้ความเป็นพลเมืองแก่คนของดินแดนที่ได้มาใหม่ ยกตัวอย่าง เช่น สหรัฐอเมริกาให้ความเป็นพลเมืองแก่ประชาชนใน อลาสกา ฟลอริดา ฮาวาย หลุยซ์เซียนา และเท็กซัส ไม่ว่าจะเป็นการแปลงสัญชาติแบบรายบุคคลหรือการแปลงสัญชาติแบบหมู่คณะ บุคคลไม่สามารถอ้างสิทธิ์ การแปลงสัญชาตินี้เป็นเอกสิทธิ์ของรัฐผู้ให้สิทธิ์นั้นโดยเฉพาะ ซึ่งหากไม่มีข้อผูกพันทางสนธิสัญญากำหนดไว้เป็นการเฉพาะแล้ว รัฐมีอิสระที่จะกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ เกี่ยวกับการแปลงสัญชาติได้

Citizenship : Passport

ความเป็นพลเมือง : หนังสือเดินทาง

เอกสารทางกฎหมายที่รัฐใดรัฐหนึ่งเป็นผู้ออกให้ ซึ่งจะมีการระบุถึงบุคคลและสัญชาติของบุคคลนั้นด้วย หนังสือเดินทางจะออกให้แก่พลเมืองซึ่งต้องการจะเดินทางไปยังต่างประเทศ ทำให้ผู้ถือมีสิทธิได้รับการคุ้มครองจากผู้แทนทางการทูตและผู้แทนทางกงสุลของประเทศตนด้วย ในหนังสือเดินทางจะมีข้อความขอร้องรัฐบาลต่างประเทศให้อนุญาตผู้ถือสามารถเดินทางเข้าไปหรือพักแรมอยู่ในเขตอำนาจตามกฎหมายของรัฐบาลต่างประเทศนั้น ๆ และให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองตามกฏหมายอีกด้วย หนังสือเดินทางทางการทูตจะออกให้แก่ผู้แทนทางการทูตของรัฐบาลต่างประเทศ ซึ่งก็จะมีข้อความระบุถึงสถานภาพทางการของนักการทูตผู้นั้น พร้อมกับขอให้ได้รับเอกสิทธิ์และการคุ้มครองทางการทูตตามความเหมาะสมด้วย

ความสำคัญ หนังสือเดินทางเป็นเอกสารการเดินทางและเป็นบัตรประจำตัว ที่ทำให้บุคคลผู้ถือสามารถอ้างขอความคุ้มครองจากรัฐบาลผู้ออกให้ได้ และเป็นหลักฐานเบื้องต้นเกี่ยวกับสัญชาติของผู้ถือนั้นด้วย เพราะฉะนั้นหนังสือเดินทางจึงเป็นสิ่งจำเป็นไม่เฉพาะสำหรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งที่ต้องการของพวกที่เข้าประเทศอื่นอย่างผิดกฎหมายอีกด้วย หนังสือเดินทางปลอมมีราคาสูงมากในตลาดมืดหลายแห่งทั่วโลก ในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง โดยทั่ว ๆ ไปแล้วไม่ต้องใช้หนังสือเดินทางสำหรับการเดินทางระหว่างประเทศ เมื่อไม่นานมานี้มีบางประเทศได้ทำข้อตกลงพิเศษกำหนดให้ยกเลิกใช้หนังสือเดินทางระหว่างกัน ยกตัวอย่าง เช่น ข้อตกลงระหว่างชาติสมาชิกของประชาคมยุโรป (อียู)

Ctizenship : statelessness

ความเป็นพลเมือง : ความไร้สัญชาติ

สภาวะของบุคคลซึ่งไม่ได้รับการรับรองจากรัฐใด ๆ ให้เป็นบุคคลมีสัญชาติของรัฐตน ความไร้สัญชาติอาจเกิดจากการย้ายถิ่นฐานเนื่องจาก (1) เกิดสงครามหรือการปฏิวัติ (2) เกิดความขัดแย้งของกฎหมายสัญชาติ หรือ (3) รัฐบาลดำเนินการบางอย่างถอนสัญชาติพลเมืองของตน บุคคลที่ทิ้งสัญชาติเดิมโดยที่ยังไม่ได้สัญชาติใหม่ ก็จะมีผลให้เกิดสภาวะความไร้สัญชาติได้อีกเหมือนกัน

ความสำคัญ ความไร้สัญชาติ หมายถึง บุคคลผู้นั้นไม่สามารถเรียกร้องขอความคุ้มครองจากประเทศใด ๆ ได้ ในกรณีของผู้ลี้ภัยทางการเมืองนั้น บุคคลผู้นั้นอาจไม่มีสิทธิทางกฎหมายในประเทศที่ตนเข้าไปพำนักอยู่นั้น และไม่สามารถมีหนังสือเดินทางหรือได้วีซ่าที่จะใช้เดินทางเข้าไปในที่ใด ๆ ได้ ปัญหาระหว่างประเทศและปัญหาทางด้านมนุษยธรรมเกี่ยวกับความไร้สัญชาติและผู้ลี้ภัย อยู่ในความรับผิดชอบโดยเฉพาะของหน่วยงานระหว่างประเทศต่าง ๆ เช่น สมัชชาใหญ่สหประชาชาติ คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม คณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ และสำนักข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัย เมื่อปี ค.ศ. 1961 สมัชชาใหญ่สหประชาชาติได้เปิดให้มีการลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการลดความไร้สัญชาติซึ่งมีการระบุถึงสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ที่ประเทศควรจะให้สัญชาติแก่บุคคล

Citizenship : Visa

ความเป็นพลเมือง : การตรวจลงตรา (วีซ่า)

การสลักข้อความลงในหนังสือเดินทางโดยเจ้าหน้าที่ของประเทศที่จะเดินทางเข้าไปให้สามารถเข้าสู่รัฐนั้นได้ การตรวจลงตราจะระบุถึงการให้การรับรองเอกลักษณ์และสัญชาติของบุคคล ตลอดจนให้ความเห็นชอบในเหตุผลของการเข้าไปในรัฐนั้น

ความสำคัญ หลายรัฐบาลมีข้อกำหนดให้ชาวต่างประเทศต้องตรวจลงตรา (วีซ่า) เสียก่อนจึงจะได้รับอนุญาตให้เข้าประเทศได้ ในแนวทางปฏิบัติของประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ชาวต่างประเทศที่ต้องการเดินทางเข้าไปในสหรัฐอเมริกาจะต้องนำหนังสือเดินทางที่ยังไม่ขาดอายุไปมอบให้เจ้าหน้าที่กงสุลสหรัฐฯ ที่ประจำอยู่ ณ ประเทศนั้น ๆ สถานกงสุลก็จะใช้ดุลพินิจเป็นครั้งสุดท้ายให้ “นอนอิมมิแกรนท์วีซ่า” แก่นักธุรกิจ นักท่องเที่ยว นักศึกษาและผู้ไปเยือนอื่น ๆ ก่อนที่จะให้ อิมมิแกรนท์วีซ่าแก่คนต่างด้าวที่ต้องการเข้าไปตั้งรกรากในสหรัฐอเมริกาสถานกงสุลก็จะต้องพิจารณาว่า โควตาประจำปีสำหรับคนต่างด้าวประเทศนั้น ๆ เต็มแล้วหรือยัง และบุคคลผู้นั้นมีคุณสมบัติอื่นครบถ้วนตามที่กำหนดหรือไม่ ทั่วโลกในช่วงเวลานี้มีแนวโน้มไปในทางที่จะขจัดเงื่อนไขการเข้าประเทศด้วยการตรวจลงตรา (วีซ่า) นี้

Contract Debt : Calvo Clause

หนี้ตามสัญญา : ข้อกำหนดคาลโว

ข้อกำหนดที่บางครั้งรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ในแถบละตินอเมริกาจะใส่ลงไปในสัญญาของภาครัฐบาลที่ทำกับคนต่างด้าว ข้อกำหนดคาลโวมีความว่า ในกรณีที่เกิดข้อขัดแย้งภายใต้สัญญาใด ๆ ก็ให้ภาคีที่เป็นคนต่างด้าวหาทางแก้ไขกันในท้องถิ่น จะต้องไม่ใช้วิธีร้องขอให้รัฐบาลของตนเข้ามาแทรกแซงทางการทูตในนามของตน ศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ และคณะกรรมาธิการข้อเรียกร้องผสมมีความเห็นที่แตกต่างกัน ในกรณีที่ว่าภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศนั้นการใส่ข้อกำหนดคาลโวนี้ในสัญญาจะป้องกันมิให้รัฐบาลต่างชาติเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการขัดแย้งได้หรือไม่ ข้อกำหนดคาลโวนี้ตั้งตามชื่อของคาร์ลอส คาลโว นักกฎหมายชาวอาร์เจนตินา ซึ่งได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้มาก

ความสำคัญ ผู้ให้การสนับสนุนข้อกำหนดคาลโว บอกว่า คนต่างด้าวไม่ควรเรียกร้องให้รัฐบาลตนปฏิบัติต่อตนดีไปกว่าที่คนในสัญชาติได้รับกัน และการที่รัฐบาลต่างชาติเข้ามาแทรกแซงในเรื่องดังกล่าวถือว่าเป็นการละเมิดหลักความเท่าเทียมกันทางด้านอำนาจอธิปไตยของรัฐ ส่วนฝ่ายที่โต้แย้งข้อกำหนดคาลโว ก็เห็นว่า ถึงแม้ว่าเอกชนจะเป็นผู้ลงนามในสัญญาก็จริง แต่การกระทำดังกล่าวมิได้ขัดขวางรัฐบาลของบุคคลนั้นให้มารับผิดชอบกับบุคคลผู้นั้น เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้โดยกฎหมายระหว่างประเทศ

Contract Debt : Drago Doctrine

หนี้ตามสัญญา : หลักดราโก

หลักที่โต้แย้งการใช้กำลังโดยรัฐบาลเพื่อบังคับให้มีการชำระหนี้คืนตามสัญญา หลักดราโกนี้ประกาศโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอาร์เจนตินา เมื่อปี ค.ศ. 1902 หลักดราโกมีอยู่ว่า เมื่อรัฐหนึ่งรัฐใดไม่ยอมจ่ายหนี้สาธารณะของตนที่มีอยู่กับบุคคลต่างด้าว ก็จะไม่ถือเป็นเหตุให้รัฐอื่นได้สิทธิที่จะใช้กำลังเข้าแทรกแซงช่วยเหลือบุคคลผู้นั้นเพื่อการชำระหนี้นั้น หรือได้สิทธิเข้าครอบครองดินแดนของรัฐที่เป็นลูกหนี้นั้นได้

ความสำคัญ มูลเหตุที่ทำให้มีการประกาศหลักการดราโก ก็คือ เมื่อปี ค.ศ. 1902 อังกฤษ เยอรมนี และอิตาลี ได้ใช้กำลังทางเรือปิดล้อมเวเนซุเอลาที่ไม่ยอมชำระหนี้สาธารณะ และหนี้อื่น ๆ ที่คนในสัญชาติของทั้งสามชาติอ้างว่าเวเนซุเอลาติดค้างอยู่ หลักดราโกได้รับการปกป้องจากสหรัฐอเมริกา เพราะเป็นหลักการที่สนับสนุนหลักการไม่เข้าแทรกแซงของประเทศในแถบยุโรปในซีกโลกตะวันตกตามที่ได้ประกาศไว้ในหลักการมอนโร สหรัฐอเมริกาเมื่อปี ค.ศ. 1907 ได้อ้างถึงพันธกรณีทางสัญญาเข้าควบคุมโรงเรือนภาษีศุลกากรของสาธารณรัฐโดมินิกัน เพื่อเป็นหลักประกันในการชำระหนี้ต่างประเทศ และเพื่อชิงตัดหน้าไม่ให้มีการแทรกแซงจากชาติตะวันตก ในปัจจุบันมีหลักปฏิบัติอยู่ว่า การที่รัฐใช้กำลังเข้าแทรกแซงเพื่อวัตถุประสงค์ดังกล่าวไม่เป็นที่ยอมรับกันในทางกฎหมาย แต่รัฐที่เป็นลูกหนี้อาจจะถูกกล่าวหาว่าไม่ให้ความยุติธรรมตามมาตรฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ เมื่อไม่ยอมหาทางใช้วิธีการทางการศาลและทางการบริหารช่วยแก้ไขตามที่ฝ่ายเจ้าหน้าที่เรียกร้อง อย่างไรก็ตามแม้ในกรณีเช่นนี้รัฐต่างประเทศจะทำได้ก็แต่เพียงเข้าแทรกแซงทางการทูตในนามพลเมืองของตนได้เท่านั้น

International Court of Justice

ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

องค์กรฝ่ายตุลาการหลักของสหประชาชาติ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศรับช่วงการทำงานต่อจากศาลยุติธรรมถาวรระหว่างประเทศ (ซีพีไอเจ) ที่ดำเนินการอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1922-1946 สมาชิกของสหประชาชาติทุกชาติย่อมเป็นภาคีแห่งธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศโดยอัตโนมัติ และสมัชชาใหญ่โดยการเสนอแนะของคณะมนตรีความมั่นคงจะกำหนดเงื่อนไขให้รัฐที่มิได้เป็นสมาชิกของสหประชาชาติ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น(ปัจจุบันสวิตเซอร์แลนด์เป็นสมาชิกของสหประชาชาติแล้ว) เป็นภาคีแห่งธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาอรรถคดีใด ๆ ที่รัฐคู่กรณีพิพาทนำมาให้ศาลฯ พิจารณา ซึ่งรัฐคู่กรณีได้ยอมรับอำนาจฯ ของศาลภายใต้ข้อกำหนดที่เลือกได้ (ออฟชั่นนัลคลอส) ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศก็ยังอาจให้ความเห็นเป็นข้อแนะนำในปัญหาทางกฎหมายที่มีการสอบถามมาจากรัฐ จากองค์กรหลักของสหประชาชาติ และจากทบวงการชำนัญพิเศษส่วนใหญ่ของสหประชาชาติได้ด้วย ส่วนในการพิพากษานั้น ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะใช้ (1) สนธิสัญญา (2) จารีตประเพณีระหว่างประเทศ (3) หลักการทั่วไปของกฎหมาย และ (4) คำพิพากษาของศาล และคำสอนหรือคำบรรยายของนักกฎหมายระหว่างประเทศที่ทรงภูมิความรู้ แต่ทั้งนี้ศาลฯ ต้องได้รับความเห็นพ้องจากคู่กรณีเสียก่อน ศาลด้วยความเห็นพ้องของคู่กรณีอาจจะตัดสินพิพากษาโดยยึดหลักแอคิวโอเอ็ตโบโน (คือ อิงหลักความยุติธรรมและความถูกต้องยิ่งกว่าจะอิงหลักกฎหมาย) ก็ได้ คำตัดสินพิพากษาจะใช้หลักคะแนนเสียงข้างมาก และไม่สามารถอุทธรณ์ได้ คณะมนตรีความมั่นคงและสมัชชาใหญ่จะแยกกันลงคะแนนเสียงเลือกผู้พิพากษา 15 คน ให้มาดำรงตำแหน่งวาระละ 9 ปี โดยให้มีการเลือกตั้งผู้พิพากษาจำนวน 5 คนในทุก 3 ปี และทุกคนมีสิทธิ์ที่จะได้รับเลือกตั้งเข้ามาใหม่ได้อีก มาตรา 9 ของธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้กำหนดให้ผู้พิพากษาได้รับการเลือกสรรโดยอิงคุณสมบัติส่วนบุคคล กับควรเป็นผู้แทนของรูปแบบแห่งอารยธรรมหลัก ๆ และเป็นผู้แทนของระบบกฎหมายหลักของโลกอีกด้วย

ความสำคัญ ที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้รับการก่อตั้งขึ้นมานี้ ถือได้ว่าเป็นความพยายามที่จะนำหลักนิติธรรมมาใช้แทนการใช้กำลังในการแก้ไขข้อพิพาทระหว่างประเทศ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้พิจารณาคดีพิพาทมากกว่า 50 คดี โดยได้ตัดสินพิพากษาคดีไปแล้ว 23 คดี และได้ให้ความเห็นทางกฎหมายเป็นจำนวน 20 ราย อย่างไรก็ตามศาลยุติธรรมระหว่างประเทศยังไม่เคยระงับกรณีระหว่างประเทศที่สำคัญใด ๆ ได้ ทั้งนี้เพราะว่ารัฐต่าง ๆ ไม่ต้องการจะสูญเสียผลประโยชน์ที่สำคัญอย่างยิ่งยวดของตนจากคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศและเพราะรัฐตกลงกันไม่ได้เกี่ยวกับบรรทัดฐานที่ศาลจะทำมาใช้ด้วย ความมีอิสระในทางตุลาการของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ถึงบางคราวจะมีการตั้งคำถามกันว่าศาลน่าจะมีความลำเอียงบ้างละกระมัง แต่ก็ไม่สามารถนำข้อกล่าวหานั้นมาลบล้างความมีอิสระของศาลฯ ได้ อย่างไรก็ตามข้อพิจารณาทางการเมืองต่าง ๆ เป็นต้นว่าควรหรือไม่ที่จะให้ประเทศนั้นประเทศนี้เป็นตัวแทนในองค์กรหลักอื่น ๆ ของสหประชาชาติก็มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจคัดเลือกผู้พิพากษาได้เหมือนกัน นอกจากนี้แล้วสมัชชาใหญ่และคณะมนตรีความมั่นคงก็ยังได้ใช้หลักการกระจายไปตามภูมิภาคอย่างยุติธรรมกับการคัดเลือกผู้พิพากษา ถึงแม้ว่าบรรทัดฐานข้อนี้จะมิได้มีการกำหนดไว้ในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศก็ตาม นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีแนวปฏิบัติอีกด้วยว่าจะตั้งคนสัญชาติของสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคง 5 ชาติเป็นผู้พิพากษาอย่างต่อเนื่องด้วย มิใยว่าจะมีบรรทัดฐานทางธรรมนูญกำหนดไว้สำหรับการคัดเลือกผู้พิพากษาดีถึงปานนี้ แต่ก็ยังมีหลายรัฐในทวีปแอฟริกาและทวีปเอเชีย แสดงความไม่พึงพอใจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ โดยกล่าวหาว่าคนจากทวีปแอฟริกาและจากทวีปเอเชียที่ได้รับการคัดเลือกมาเป็นผู้แทนเข้าไปนั่งเป็นผู้พิพากษามีจำนวนไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตามการมีศาลยุติธรรมระหว่างประเทศขึ้นมาเช่นนี้ นับได้ว่าเป็นจุดสูงสุดในความพยายามของระบบรัฐปัจจุบัน ที่จะพัฒนาวิธีปฏิบัติในการแก้ไขข้อพิพาทระหว่างประเทศโดยทางศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

Jurisdiction Compulsory

อำนาจศาลโดยการบังคับ

อำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ที่จะพิจารณาและพิพากษาคดีบางคดีโดยไม่จำเป็นต้องให้คู่กรณีตกลงล่วงหน้าว่าจะยอมรับอำนาจศาลในแต่ละคดี ธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีข้อกำหนดว่าด้วยอำนาจศาลโดยการบังคับนี้ ใน “ข้อกำหนดที่เลือกได้ (ออฟชั่นนัลคลอส) (มาตรา 36) ซึ่งมีข้อความระบุไว้ว่า “รัฐที่เป็นภาคีแห่งธรรมนูญนี้อาจแถลงในเวลาใด ๆ ได้ว่าตนยอมรับการบังคับของศาลโดยพฤตินัยและโดยปราศจากข้อตกลงพิเศษ ซึ่งอำนาจของศาลในความสัมพันธ์กับรัฐอื่น ซึ่งยอมรับพันธกรณีอย่างเดียวกัน เขตอำนาจศาลที่เกี่ยวกับกรณีพิพาททางกฎหมายมีดังนี้ คือ (1) การตีความสนธิสัญญา (2) ปัญหาทางกฎหมายระหว่างประเทศ (3) ความมีอยู่แห่งข้อเท็จจริงใด ๆ ซึ่งหากพิจารณาแล้วจะเป็นการละเมิดพันธกรณีระหว่างประเทศ และ (4) สภาพและจำนวนของค่าทดแทนค่าเสียหายที่จะต้องชดใช้ในกรณีละเมิดพันธกรณีระหว่างประเทศ“


ความสำคัญ เขตอำนาจศาลโดยการบังคับจะอิงข้อตกลงล่วงหน้า เป็นเรื่องที่ถูกออกแบบมาเพื่อเอื้ออำนวยให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยสันติวิธี ด้วยการให้มีการยอมรับเป็นการล่วงหน้าว่า จะยอมรับเทคนิควิธีทางกฎหมายมาใช้ระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศกัน อย่างไรก็ตามเขตอำนาจศาลโดยการบังคับนี้มีความศักดิ์สิทธิ์ลดลงเนื่องจาก “ข้อสงวน” ที่รัฐต่าง ๆ ตั้งขึ้นมาเมื่อตอนที่ยอมรับ “ข้อกำหนดที่เลือกได้” นี้ กระนั้นก็ตามเขตอำนาจศาลโดยการบังคับยังได้รับการระบุไว้ในสนธิสัญญาระหว่างประเทศกว่า 600 ฉบับ ซึ่งมีข้อความระบุไว้ว่า หากเกิดปัญหาในการตีความและในการใช้สนธิสัญญา ก็พึงให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศทำการตัดสิน ระบบกฎหมายภายในประเทศจะทำงานอย่างมีประสิทธิผลไม่ได้หากว่าศาลยุติธรรมภายในประเทศขาดเขตอำนาจศาลโดยการบังคับ แต่ในกรณีของระบบระหว่างประเทศนั้น แนวความคิดที่ให้ใช้วิธีทางกฎหมายแก้ไขกรณีพิพาทโดยนำมาให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศพิจารณานั้น เป็นการขัดต่อหลักการมีอธิปไตยของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐและท่านผู้รู้ทั้งหลายยังคงให้การสนับสนุนให้ชาติทั้งหลายทั้งปวงสมัครใจที่จะยอมรับเขตอำนาจศาลโดยการบังคับนี้เป็นเครื่องมือสำหรับใช้แก้ไขข้อพิพาทและสร้างเสถียรภาพให้แก่ระบบกฎหมายของโลก

ICJ Jurisdiction : Connally Amendment

เขตอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ : คอนแนลลีอเมนด์เม้นท์

ข้อสงวนสิทธิ์ของสหรัฐอเมริกาในการยอมรับเขตอำนาจศาลภายใต้ “ข้อกำหนดที่เลือกได้ (ออฟชั่นนัลคลอส) ในมาตรา 36 ของธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) ปี ค.ศ. 1946 คอนแนลลี อเมนด์เม้นท์ปฏิเสธเขตอำนาจศาลโดยการบังคับของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในเรื่องความขัดแย้งที่เกี่ยวกับกิจการซึ่งโดยสาระสำคัญแล้วอยู่ในเขตอำนาจภายในของสหรัฐอเมริกาโดยให้สหรัฐอเมริกาเป็นผู้ตัดสิน” ผลกระทบของคอนแนลลี อเมนด์เม้นท์ในทางปฏิบัติ ก็คือ เป็นการทำลายสภาพบังคับของเขตอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศตามที่ได้ตั้งเป็นจุดมุ่งหมายเอาไว้นั้น ทั้งนี้ก็เพราะสหรัฐอเมริกามีอิสระที่จะตัดสินว่าอะไรบ้างคือสิ่งที่เป็นกิจการภายในที่พ้นจากเขตอำนาจของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

ความสำคัญ บทบาทของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้ถูกลดลงมากจากคอนแนลลี อเมนด์เม้นท์ที่จำกัดอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในการแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างรัฐ หลายรัฐได้ยอมรับข้อกำหนดที่เลือกได้นี้ตามอย่างสหรัฐอเมริกาบ้างโดยมีการแนบข้อสงวนสิทธิ์ในลักษณะที่คล้ายคลึงกันนั้น ผลกระทบของแคนแนลลี อเมนด์เม้นต์ของสหรัฐฯ และข้อสงวนอื่น ๆ มีเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณเมื่อมีการนำเรื่องนี้ไปใช้ต่างตอบแทนกันในคดีที่เกี่ยวข้องกับรัฐอื่นที่มิได้แนบข้อสงวนสิทธิ์ในการยอมรับข้อกำหนดที่เลือกได้นั้น ผลที่ตามมาก็คือส่วนใหญ่แล้วเมื่อเกิดข้อพิพาททางกฎหมายขึ้นมา คู่กรณีจะยังคงเป็นฝ่ายตัดสินว่าศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีขอบเขตอำนาจที่จะพิจารณาคดีหรือไม่

ICJ Jurisdiction : Ex Aequo Et Bona

เขตอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ : หลักความยุติธรรมและความเหมาะสม

บรรทัดฐานที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศใช้เพื่อตัดสินคดีโดยยึดหลักความยุติธรรมและความเหมาะสม หลักความยุติธรรมและความเหมาะสมนี้ที่มีอยู่ในมาตรา 38 แห่งธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศสามารถนำมาใช้เป็นบรรทัดฐานในการตัดสินคดีได้ก็ต่อเมื่อคู่กรณีเห็นพ้องด้วยเท่านั้น เป็นบรรทัดฐานที่แตกต่างจากบรรทัดฐานปกติที่ศาลระหว่างประเทศนำมาใช้ในการตัดสินคดี กล่าวคือ หลักกฎหมายระหว่างประเทศที่อิงหลักปฏิฐานนิยม (กฎหมายบัญญัติ) และหลักจารีตประเพณี


ความสำคัญ การตัดสินคดีโดยหลักความยุติธรรมและความสมควรนี้มิได้มองแค่ความยุติธรรมอยู่ที่กฎหมายอย่างใดอย่างหนึ่ง และในแง่นี้เองหลักการนี้จึงไปเหมือนกับแนวความคิดเรื่องหลักความยุติธรรมในหลักกฎหมายกลุ่มแองโกล-แซ็กซอน ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศยังไม่มีใครเคยเรียกร้องให้ตัดสินคดีโดยหลักยุติธรรมและความเหมาะสมนี้ แต่แนวความคิดนี้ได้ถูกนำไปใช้โดยศาลอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศในการตัดสินข้อพิพาททางพรมแดนระหว่างกัวเตมาลากับฮอนดูรัส เมื่อปี ค.ศ. 1933 และในการตัดสินคดีข้อขัดแย้งแกรนชาโกระหว่างโบลิเวียกับปารากวัย เมื่อปี ค.ศ. 1938

ICJ Jurisdiction : Optional Clause

เขตอำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ : หลักเลือกรับอำนาจศาล

วิธีการที่มีการระบุไว้ในมาตรา 36 แห่งธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) ที่กำหนดไว้ว่า รัฐอาจตกลงเป็นการล่วงหน้าว่าจะยอมรับเขตอำนาจศาลโดยการบังคับของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศในบางสภาพแวดล้อม หากรัฐยอมรับเขตอำนาจโดยการบังคับนี้ รัฐก็จะยอมรับว่าจะนำข้อขัดแย้งทางกฎหมายทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการตีความสนธิสัญญา กฎหมายระหว่างประเทศ การละเมิดพันธกรณีระหว่างประเทศ และจำนวนค่าชดเชยที่จะได้รับไปให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศเป็นผู้ตัดสิน

ความสำคัญ วัตถุประสงค์ของการมีหลักเลือกรับอำนาจศาลนี้ ก็คือ เพื่อจะแก้ไขความอ่อนแอของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศที่ไม่สามารถใช้เขตอำนาจของตนเหนือรัฐอธิปไตย ซึ่งหากไม่มีหลักออฟชั่นนอลคลอสนี้ไว้แล้ว รัฐอธิปไตยก็สามารถปฏิเสธที่จะไปปรากฎตัวในศาลได้ รัฐต่าง ๆ กว่า 50 รัฐได้ยอมรับเขตอำนาจศาลโดยการบังคับนี้ ซึ่งเป็นการยอมรับโดยไม่มีเงื่อนไขก็มี ที่ยอมรับโดยมีเงื่อนไขว่ารัฐอื่น ๆ จะต้องถ้อยทีถ้อยปฏิบัติในแบบเดียวกันก็มี สหรัฐอเมริกายอมรับเขตอำนาจศาลโดยการบังคับนี้ภายใต้หลักเลือกรับอำนาจศาลแต่ก็ได้สงวนสิทธิ์ว่าจะต้องมีการตีความการใช้เขตอำนาจโดยการบังคับนี้ก่อน (ตามคอนนอลลี อะเมนด์เม้นท์) ซึ่งก็ส่งผลให้การยอมรับของสหรัฐฯ ไม่เกิดความหมายอะไรขึ้นมา การที่หลักเลือกรับอำนาจศาลไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของการใช้เขตอำนาจโดยการบังคับเป็นที่น่าพอใจได้นั้น แสดงให้เห็นว่า รัฐส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมที่จะไว้วางใจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศให้ทำการตัดสินข้อพิพาทในเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวด

Internation Law

กฎหมายระหว่างประเทศ

ระบบของกฎเกณฑ์ว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของรัฐในความสัมพันธ์ระหว่างกัน กฎหมายระหว่างประเทศตั้งอยู่บนพื้นฐานของแนวความคิดว่าด้วยความเสมอภาคทางด้านอำนาจอธิไตยของรัฐและอิงอาศัยข้อตกลงระหว่างรัฐในขั้นสุดท้าย ที่มาของกฎหมายระหว่างประเทศมีดังนี้ คือ (1) สนธิสัญญาหรือข้อตกลงแบบทวิภาคีหรือแบบพหุภาคีระหว่างรัฐ (2) จารีตประเพณีระหว่างประเทศที่มีหลักฐานว่ามีการปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่องยาวนานจนได้รับการยอมรับเป็นข้อผูกพัน (3) หลักกฎหมายทั่วไปที่อิงอาศัยแนวความคิดต่าง ๆ อาทิ ความยุติธรรม ความเที่ยงธรรม และศีลธรรมจริยธรรมที่นานาอารยประเทศให้การรับรอง และ (4) ที่มาของกฎหมายอื่น ๆ ที่ปรากฎอยู่ในคำพิพากษาของศาลและคำสอนของนักกฎหมายที่ได้รับการรับรองจากนานาชาติ ถึงแม้ว่ากฎหมายระหว่างประเทศจะถูกนำมาใช้โดยศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ แต่ก็มักจะถูกตีความและนำไปใช้โดยศาลภายในชาติอยู่ด้วยเหมือนกัน กฎหมายระหว่างประเทศในระยะเริ่มแรกนั้นอิงอาศัยหลักเกณฑ์มาตั้งแต่ยุคก่อน ๆ แต่ต่อมาได้พัฒนาขึ้นมาในระบบรัฐสมัยใหม่นับแต่ “สันติภาพแห่งเวสต์ฟาเลีย” เมื่อปี ค.ศ. 1648 เป็นต้นมา ฮูโก กรอติอุส ผู้ประพันธ์ตำราที่มีชื่อเสียงชื่อ เด เจอเรอ เบลลี เอต พาซิส (กฎหมายยามสงครามและสันติ) (ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 1625) มักจะได้รับการยอมรับว่าเป็นบิดาแห่งกฎหมายระหว่างประเทศสมัยใหม่

ความสำคัญ กฎหมายระหว่างประเทศจะกำหนดแนวทางปฏิบัติและเทคนิควิธีที่รัฐสามารถนำมาใช้แก้ไขข้อพิพาทระหว่างกันด้วยการใช้บรรทัดฐานความประพฤติที่ได้ตกลงกันไว้แล้วยิ่งกว่าจะหันไปใช้กำลังต่อกัน แต่ด้วยเหตุที่ว่าระบบรัฐสมัยใหม่ได้พัฒนาขึ้นมาเป็นครั้งแรกในแถบยุโรปตะวันตก ดังนั้นกฎหมายระหว่างประเทศที่มีสมมติฐานว่าสามารถนำไปใช้ได้ทั่วทุกหนทุกแห่งนั้นส่วนใหญ่แล้วเป็นผลผลิตของวัฒนธรรมของฝ่ายตะวันตก แต่ปัจจุบันประชาคมแห่งรัฐได้เติบโตขึ้นมากกว่าสองเท่านับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา และสมาชิกส่วนใหญ่ของประชาคมรัฐนี้ ก็ประกอบด้วยรัฐที่เกิดขึ้นมาใหม่ทั้งในทวีปเอเชียและทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นดินแดนที่มีส่วนน้อยมากหรือไม่มีส่วนเลยในการพัฒนากฎเกณฑ์ของกฎหมายระหว่างประเทศที่มีอยู่ในปัจจุบัน ผลที่ตามมาก็คือ หลายรัฐที่ไม่ได้อยู่ในฝ่ายตะวันตก รวมตลอดไปจนถึงรัฐที่มีการปกครองตามระบอบคอมมิวนิสต์ ได้ทำการท้าทายรูปแบบปัจจุบันของกฎหมายระหว่างประเทศในหลายลักษณะด้วยกัน การท้าทายเหล่านี้มีรากเหง้ามาจากความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมและด้านอุดมการณ์ มาจากความหยิ่งผยองในชาตินิยม และมาจากการต่อต้านกฎเกณฑ์ต่างๆที่อดีตเจ้าอาณานิคมในอดีตสร้างขึ้นมา ด้วยเหตุนี้ปัญหาสำคัญในการจัดตั้งกฎเกณฑ์ทางกฎหมายระหว่างชาติ ก็คือ การสร้างระบบกฎหมายระหว่างประเทศขึ้นมาใหม่อันเป็นระบบที่ทุกชาติสามารถยอมรับได้ องค์การต่างๆของสหประชาติ กล่าวคือ คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม คณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ และคณะกรรมาธิการพิเศษต่างๆ ต่างก็มุ่งหน้าไปสู่ทิศทางดังกล่าว กระบวนการที่ได้นำมาใช้ในเรื่องนี้ ก็คือ การพยายามที่จะทำประมวลกฎหมายที่มีอยู่แล้ว และพยายามที่จะสร้างกฎหมายใหม่ขึ้นมาโดยผ่านทางสนธิสัญญา เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาคมแห่งรัฐทั่วโลก

International Law : Conflict of Laws

กฎหมายระหว่างประเทศ : กฎหมายขัดกัน

สถานการณ์ที่กฎหมายของประเทศที่มีจำนวนมากกว่าหนึ่งประเทศได้ถูกนำมาใช้ สถานการณ์กฎหมายขัดกันนี้โดยทั่วไปจะเกี่ยวกับเรื่องต่างๆ เช่น การละเมิด สัญญา การรับมรดก การได้ทรัพย์ การโอนทรัพย์ สัญชาติ ภูมิลำเนา การแต่งงาน การหย่าร้าง เป็นต้น กฎเกณฑ์ว่าด้วยการขัดกันทางกฎหมายจะกำหนดว่า การขัดกันทางกฎหมายจะส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของรัฐอื่นหรือไม่ และหากมีผลกระทบจะมีมากน้อยขนาดไหน การขัดกันทางกฎหมายมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า กฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล

ความสำคัญ ปัญหาการขัดกันทางกฎหมายที่สำคัญ ได้แก่ ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีบุคคล กับกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมือง ในบางรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งรัฐที่อยู่ทางภาคพื้นยุโรป เห็นว่า กฎเกณฑ์การขัดกันทางกฎหมายนี้ควรจะเป็นสาขาหนึ่งของกฎหมายระหว่างประเทศและให้มีผลผูกพันกับทุกรัฐด้วย แต่ฝ่ายประเทศในกลุ่มแองโกล-อเมริกัน ถือว่ากฎเกณฑ์การขัดกันทางกฎหมายนี้ควรเป็นสาขาหนึ่งของกฎหมายภายในชาติ แต่ในทางปฏิบัตินั้นมีแนวทางอยู่ว่า เมื่อไม่มีสนธิสัญญาระบุไว้เป็นการเฉพาะแล้วทัศนะของกลุ่มประเทศในภาคพื้นยุโรปไม่ได้รับการยอมรับอย่างเต็มที่โดยศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ โดยนัยนี้กฎหมายระหว่างประเทศจึงมิได้บังคับให้รัฐหนึ่งรัฐใดต้องแจ้งผลกระทบของกฎเกณฑ์การขัดกันทางกฎหมายนี้ไปให้รัฐอื่นได้ทราบ อย่างไรก็ตามได้มีความพยายามอย่างแข็งขันที่จะทำประมวลกฎเกณฑ์ของกฎหมายระหว่างประเทศแผนกบุคคล และสร้างรูปแบบการออกกฎหมายภายในที่เกี่ยวกับกฎเกณฑ์การขัดกันทางกฎหมายเหล่านี้ให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

International Law : Customary Law

กฎหมายระหว่างประเทศ : กฎหมายจารีตประเพณี

กฎเกณฑ์แห่งความประพฤติระหว่างประเทศที่อิงอาศัยหลักปฏิบัติและขนบธรรมเนียมประเพณีที่ได้รับการยอมรับโดยรัฐต่าง ๆ ว่าเป็นพันธกรณีที่จะต้องปฏิบัติตาม ด้วยเหตุที่กฎหมายจารีตประเพณีมีการนำมาใช้ปฏิบัติเป็นเวลานานแรมปี ดังนั้นหลักการของกฎหมายจารีตประเพณีก็จึงมีความกระจ่างและมีความไม่แน่นอนน้อย กฎเกณฑ์ของกฎหมายจารีตประเพณีที่สำคัญ ๆ มักเปลี่ยนรูปไปเป็นกฎหมายบัญญัติ (โพสิทิฟลอว์) โดยการนำไปใส่ไว้ในสนธิสัญญา มาตรา 38 ของธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) มีข้อความระบุว่า “จารีตประเพณีระหว่างประเทศเท่าที่เป็นหลักฐานแห่งการปฏิบัติโดยทั่วไปพอพิสูจน์ได้ว่าได้รับการยอมรับว่าเป็กฎหมายแล้ว”เป็นหนึ่งในที่มาของกฎหมายระหว่างประเทศที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศนำมาใช้

ความสำคัญ เป็นการยากที่จะทำการกำหนดเป็นที่แน่นอนว่าอะไรบ้างเป็นกฎเกณฑ์ของกฎหมายจารีตประเพณี แต่ว่าโดยลักษณะนั้นกฏเกณฑ์ของกฎหมายจารีตประเพณีจะมีหลักฐานที่สามารถพบได้ว่ามีการปฏิบัติที่ได้กระทำสืบต่อกันมา มิได้มีอยู่ในบทบัญญัติหรือในข้อตกลงระหว่างประเทศเป็นการเฉพาะแต่อย่างใด หลักฐานที่แสดงว่ากฎเกณฑ์ขนบธรรมเนียมประเพณีเชื่อได้ว่ามีผลผูกพันเป็นกฎหมายนั้น สามารถสืบค้นได้จาก (1) คำแนะนำสำหรับนักการทูตและนักการทหาร (2) การตรากฎหมายภายในรัฐ และ (3) ความเห็นของศาลภายในของรัฐและศาลระหว่างประเทศ อย่างไรก็ดี ด้วยเหตุที่เป็นการลำบากที่จะกำหนดขนบประเพณีใหม่ ๆ เข้าไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศ ดังนั้นก็จึงได้มีการใช้ “สนธิสัญญาสร้างกฎหมาย” กันมากยิ่งขึ้น นอกจากนั้นแล้วกฎหมายจารีตประเพณีก็ยังมีการนำไปใช้น้อยลงเนื่องจากการเกิดขึ้นของรัฐใหม่ ๆ หลายรัฐที่มิได้มีบทบาทในการพัฒนากฎหมายจารีตประเพณีนี้

International Law : Neutrality

กฎหมายระหว่างประเทศ : ความเป็นกลาง

สถานภาพทางกฎหมายที่รัฐไม่เข้าไปมีส่วนร่วมในสงคราม และทำให้เกิดสิทธิและหน้าที่บางอย่างระหว่างรัฐเป็นกลางกับรัฐคู่สงคราม ได้แก่ (1) มีอิสระไม่ถูกละเมิดดินแดน (2) ได้รับการยอมรับในข้อเท็จจริงว่า รัฐเป็นกลางไม่เข้าข้างฝ่ายใด และ (3) มีอิสระจากการถูกแทรกแซงทางการพาณิชย์ของรัฐเป็นกลาง เว้นแต่เป็นการแทรกแซงในระดับที่กฎหมายระหว่างประเทศยินยอมให้กระทำได้ ส่วนหน้าที่ของรัฐเป็นกลางมีดังนี้ คือ (1) ไม่เข้าข้างฝ่ายใด (2) งดเว้นจากการให้ความช่วยเหลือแก่คู่สงครามใด ๆ (3) ไม่ยอมให้คู่สงครามเข้ามาใช้ดินแดนของรัฐเป็นกลาง และ (4) ยอมให้คู่สงครามเข้ามาแทรกแซงทางการพาณิชย์ได้เท่าที่มีการระบุไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศ

ความสำคัญ แนวความคิดในเรื่องของสงครามเบ็ดเสร็จก่อให้เกิดปัญหาขึ้นมาว่า ความเป็นกลางนี้จะสามารถนำมาใช้ยับยั้งคู่สงครามได้หรือไม่ ในสงครามแบบเบ็ดเสร็จนั้น การพาณิชย์ใด ๆ ที่มีต่อกันระหว่างฝ่ายที่สามกับคู่สงครามสามารถตีความได้ว่าเป็นการให้ความช่วยเหลือแก่ฝ่ายศัตรู เมื่อการพาณิชย์ดังกล่าวถูกตัดขาดชาติเป็นกลางก็มีทางเลือก คือ (1) ยอมปฏิบัติตาม หรือ (2) เข้าร่วมสงครามกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ส่วนในกรณีที่เป็นการรุกรานนั้น การดำเนินนโยบายเป็นกลางอย่างเคร่งครัดอาจจะถูกตราว่าเป็นการกระทำที่ไร้ศีลธรรมจรรยา เพราะไม่แบ่งแยกระหว่างผู้รุกรานกับผู้ตกเป็นเหยื่อของการรุกราน นอกจากนั้นแล้วความชอบธรรมของความเป็นกลางนี้ก็ยังก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับพันธกรณีในกฎบัตรสหประชาชาติ ที่ระบุให้สมาชิกสหประชาชาติทั้งปวงทำการต่อต้านขัดขวางการรุกราน อย่างไรก็ดีก็ยังมีความเป็นกลางของรัฐสองสามรัฐ เช่น ออสเตรีย สวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น ที่ได้รับการรับรองในกฎหมายระหว่างประเทศ ความเป็นกลางทางกฏหมายนี้อย่าได้นำไปปะปนกับลัทธิความเป็นทางการเมือง ซึ่งความเป็นกลางอย่างหลังหมายถึงการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดในการแข่งขันชิงดีชิงเด่นระหว่างอดีตสหภาพโซเวียตกับสหรัฐอเมริกา

International Law : Pacta Sunt Servanda

กฎหมายระหว่างประเทศ : หลักที่ว่าสัญญาเป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติตาม

กฎเกณฑ์ของกฎหมายระหว่างประเทศทั่วไปที่ว่า สนธิสัญญาสร้างพันธกรณีและจะต้องปฏิบัติตาม หลักสัญญาเป็นสิ่งต้องปฏิบัติตามเป็นหลักการที่กำหนดเป็นพื้นฐานทางกฎหมายไว้ว่า สนธิสัญญาเป็นสัญญาที่ผูกพันระหว่างรัฐผู้ลงนาม

ความสำคัญ หลักการและเหตุผลของหลักที่ว่า สัญญาเป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติตามก็คือ ในเมื่อไม่มีองค์กรบังคับใช้ระหว่างประเทศ สมาชิกของประชาคมระหว่างประเทศแต่ละชาติก็จะต้องรับผิดชอบรักษาข้อตกลงของตนเอาไว้ หากไม่ปฏิบัติตามสัญญาก็จะเกิดปัญหาเกี่ยวกับการคงอยู่ของกฎหมายระหว่างประเทศในประชาคมของรัฐที่มีอำนาจอธิปไตยขึ้นมาได้ เมื่อมีการละเมิดสนธิสัญญารัฐผู้ละเมิดก็มักจะพยายามหาเหตุผลมาสนับสนุนการกระทำของฝ่ายตนเอง โดยจะไม่อ้างว่าไม่มีข้อตกลงตามสัญญานั้นแต่จะอ้างว่าสภาพแวดล้อมได้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ซึ่งหากยืนยันแบบนี้ก็จะช่วยให้ฝ่ายตนรอดพ้นจากข้อบังคับของกฎเกณฑ์นี้ได้ (คือหลักที่ว่าพันธกรณีตามสัญญายังคงอยู่เมื่อสถานการณ์ยังคงเดิม) จากการที่มีการพยายามหาเหตุผลเข้าข้างฝ่ายตนนี้เอง ก็จึงเป็นการยอมรับโดยอ้อมถึงความมีอยู่และความถูกต้องของหลักที่ว่า สัญญาเป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติตาม ว่าเป็นกฎเกณฑ์ทางกฎหมายทั่วไป

International Law : Positivism

กฎหมายระหว่างประเทศ : ปฏิฐานนิยม
หลักที่ว่ากฎหมายระหว่างประเทศประกอบด้วยกฎเกณฑ์ที่รัฐให้ความยินยอมให้มาผูกพันเป็นพันธกรณีเท่านั้น ปฏิฐานนิยมซึ่งเน้นย้ำถึงแนวความคิดเกี่ยวกับการมีอธิปไตยของรัฐ มีหลักการว่าความยินยอมนี้รัฐอาจมอบให้โดยเปิดเผยในรูปของสนธิสัญญาก็ได้ หรือมอบให้โดยนัยด้วยการยึดถือหลักปฏิบัติตามจารีตประเพณีระหว่างประเทศก็ได้

ความสำคัญ ปฏิฐานนิยมเป็นวิธีการสำคัญสำหรับแสดงเหตุผลทางกฎหมายระหว่างประเทศในยุคที่ถูกครอบงำโดยลัทธิชาตินิยมและในยุคที่ให้การรับรองว่าประชารัฐเป็นรูปแบบสูงสุดขององค์การของมนุษย์ แต่ในทัศนะของนักปราชญ์ทางกฎหมายเห็นว่า แนวทางอธิบายในแบบของปฏิฐานนิยมนี้มีจุดอ่อนตรงที่บอกว่า แนวความคิดว่าด้วยการให้ความยินยอมโดยนัยเป็นสิ่งที่ถูกต้องนั้นสามารถนำมาใช้อธิบายพลังผูกพันของกฎหมายระหว่างประเทศได้ แต่ก็จะมีประเด็นของคำถามเกิดขึ้นมาว่า รัฐที่มีอธิปไตยจะสามารถผูกพันกับความยินยอมอย่างอื่นที่มิใช่ความยินยอมเป็นทางการ (ทางสนธิสัญญา) ได้หรือไม่ อย่างไรก็ดี ปฏิฐานนิยมนี้มีคุณูปการต่อการเข้าใจธรรมชาติของกฎหมายระหว่างประเทศสมัยใหม่ได้เป็นอย่างดี โดยได้เน้นย้ำให้เห็นว่า การปฏิบัติของรัฐมิใช่การให้เหตุผลโดยวิธีนิรนัยจัดได้ว่าเป็นแหล่งที่มาของบรรทัดฐานทางกฎมาย

International Law : Rebus Sic Stantibus

กฎหมายระหว่างประเทศ : หลักที่ว่าพันธกรณีตามสนธิสัญญายังคงอยู่เมื่อสถานการณ์ยังคงเดิม

หลักกฎหมายระหว่างประเทศที่ว่า การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในเงื่อนไขที่สนธิสัญญาได้รับการลงนามนั้น จะทำให้รัฐเป็นอิสระจากพันธกรณีของสนธิสัญญาได้ หลักการที่ว่าพันธกรณีตามสนธิสัญญายังคงอยุ่เมื่อสถานการณ์ยังคงเดิมอยู่นี้ ใช้เป็นเหตุผลสำหรับอ้างเพื่อบอกเลิกข้อผูกพันทางสัญญาโดยฝ่ายเดียวได้ หลักการนี้ยืนยันว่าสนธิสัญญาทุกฉบับมีข้อกำหนดที่มิได้เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ว่า การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในเงื่อนไขที่มีอยู่ในเวลาที่สนธิสัญญาได้รับการลงนามนั้น จะเปลี่ยนแปลงพันธกรณีที่กำหนดไว้โดยสนธิสัญญาได้

ความสำคัญ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะมีเสถียรภาพได้นั้น เป็นการจำเป็นที่ข้อตกลงต่าง ๆ จะต้องได้รับการปฏิบัติตาม (หลักที่ว่าสัญญาเป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติตาม) แต่หลักการที่ว่าพันธกรณีตามสนธิสัญญายังคงอยู่เมื่อสถานการณ์ยังคงเดิมนี้ รัฐก็อาจจะต้องนำมาใช้หากความอยู่รอดของตนถูกคุกคามจากการที่ตนยังจะต้องปฏิบัติตามพันธกรณีของสนธิสัญญานั้นอยู่ต่อไป แต่ข้อยืนยันของหลักการนี้น่าจะมีปัญหาในเรื่องของความถูกต้องเมื่อรัฐเห็นว่าพันธกรณีที่ตนมีอยู่นั้นเป็นการไม่สะดวก ไม่ยุติธรรม ไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงในสถานภาพของตน หรือเป็นการทำลายเกียรติภูมิของตน ทั้งสองหลักการ คือ หลักการที่ว่าสัญญาเป็นสิ่งที่ต้องปฏิบัติตาม และหลักการที่ว่าพันธกรณีตามสนธิสัญญายังคงอยู่เมื่อสถานการณ์ยังคงเดิม ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องให้สอดประสานซึ่งกันและกันในหลักการก็ได้ หลักการที่ว่าสนธิสัญญาจะต้องมีสภาพบังคับให้มีการปฏิบัติตามนั้น จะต้องได้รับการยอมรับหากว่าจะต้องดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศบนรากฐานของหลักนิติธรรมต่อไป แต่ในขณะเดียวกันพันธกรณีตามสนธิสัญญาเมื่อนาน ๆ เข้าก็จะต้องมีการเจรจากันใหม่หรือมีการปรับปรุงเป็นระยะ ๆ หากการบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัดนั้นจะก่อให้เกิดความวุ่นวายและความขัดแย้งขึ้นมาได้

International Law : Sovereignty

กฎหมายระหว่างประเทศ : อำนาจอธิปไตย

อำนาจการตกลงใจและการบังคับใช้การตกลงใจขั้นสุดท้ายที่เป็นเจ้าของโดยรัฐและมิใช่โดยสถาบันทางสังคมอื่น ๆ หลักแห่งอำนาจอธิปไตยนี้ได้เกิดขึ้นมาในคริสตศตวรรษที่ 16 เพื่อใช้ปกป้องสิทธิของพระมหากษัตริย์ ในความมีอำนาจเหนือดินแดนโดยสมบูรณ์ จากการอ้างของพวกเจ้าท้องถิ่นที่มีอำนาจน้อยกว่า จากพระสันตปาปา และจากองค์จักพรรดิโรมันศักดิ์สิทธิ์ เมื่อสงครามสามสิบปียุติลง (ค.ศ. 1618 – 1648) หลักอำนาจอธิปไตยได้กลายเป็นข้อเท็จจริงทางการเมืองที่ได้รับการยอมรับ และประชารัฐสมัยใหม่ก็ได้กลายมาเป็นหน่วยที่มีความสำคัญที่สุดขององค์การทางการเมืองในโลก แต่อำนาจอธิปไตยนี้มิได้มีความหมายว่ารัฐมีอิสระที่จะกระทำการใด ๆ ได้อย่างสมบูรณ์ ทว่าการกระทำของรัฐจะอยู่ภายใต้เงื่อนไขข้อกำหนดของกฎหมายระหว่างประเทศและของกฎเกณฑ์ขององค์การระหว่างประเทศอีกหลายแห่งที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ภายใต้ทฤษฎีที่ว่าอำนาจสูงสุดสามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยความยินยอม นอกจากนั้นแล้วอำนาจอธิปไตยก็ยังหมายถึงความเสมอภาคของรัฐ แต่เป็นความเสมอภาคในความหมายที่ว่ามีขีดความสามารถที่จะมีสิทธิและมีพันธกรณี รัฐที่มีอำนาจอธิปไตยยังถูกจำกัดไม่ให้มีอิสระในการกระทำจากข้อจำกัดที่ไม่เป็นทางการต่าง ๆ ที่ระบบรัฐนำมาบังคับ เพื่อที่ว่ารัฐต่าง ๆ จะต้องใช้ขีดความสามารถที่แตกต่างกันนั้นให้สอดประสานกลมกลืนกันกับวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะนั้น

ความสำคัญ หลักแห่งอำนาจอธิปไตยหมายถึงการกระจายอำนาจในประชาคมแห่งรัฐ และเป็นการให้ความชอบธรรมในอิสรภาพของแต่ละรัฐที่จะตัดสินใจได้โดยอิสระ แต่หลักอำนาจอธิปไตยนี้ได้ถูกโจมตีจากพวกที่อ้างว่าหากปล่อยให้รัฐดำเนินการเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนโดยไม่มีสิ่งใดคอยฉุดรั้งไว้บ้างแล้วก็จะเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดสงครามขึ้นมาได้ และจากพวกที่มีความเห็นว่า ระบบรัฐที่มีการรวมอำนาจมาก ๆ จะใช้เป็นทางควบคุมความสัมพันธ์ระหว่างรัฐได้ อำนาจอธิปไตยของรัฐเข้ากันไม่ได้กับระบบรัฐในแบบรวมอำนาจ เช่นเดียวกับอำนาจอิสระของพวกขุนนางในระบบศักดินาก็เข้ากันไม่ได้กับระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพราะฉะนั้นตราบใดที่หลักการอำนาจอธิปไตยยังคงมีอยู่ กฎหมายระหว่างประเทศก็จะเป็นระบบกฎหมายที่กระจายอำนาจมีความอ่อนแอเมื่อเทียบกับระบบกฎหมายภายในของสมาชิกของประชาคมระหว่างประเทศแต่ละชาติ ในทางทฤษฎีนั้นบูรณาการของประชาคมโลกไม่สามารถจะก้าวพ้นขั้นตอนของสมาพันธรัฐไปได้ ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างคือ สหประชาชาติ เพราะว่าในการยึดหลักอำนาจอธิปไตยของรัฐนั้นมีกฎเกณฑ์ว่าอำนาจการตัดสินใจสุดท้ายจะต้องอยู่กับสมาชิกของกลุ่มต่อไป นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองยุติลงเป็นต้นมา ได้มีการยอมสละลักษณะบางอย่างของอำนาจอธิปไตยให้แก่ระดับภูมิภาค พร้อม ๆ กับที่ได้มีการพัฒนาองค์การระดับภูมิภาคต่าง ๆ ขึ้นมา อาทิ ประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (อีอีซี) แต่ทว่าบูรณาการทางการเมืองขั้นสุดท้ายของ 6 รัฐแรกเริ่มของประชาคมเศรษฐกิจยุโรปยังไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้ เพราะถูกขัดขวางจากแนวความคิดเรื่องอำนาจอธิปไตยของรัฐและสัทธิชาตินิยมที่มีพลังอย่างรุนแรง ดังมีตัวอย่าง คือ แนวความคิด “ยุโรปแห่งปิตุภูมิทั้งหลาย” ของชาร์ล เดอ โกลล์ เป็นต้น ส่วนในที่แห่งอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ประเทศเก่า ๆ นั้น ลัทธิชาตินิยมและความขัดแย้งทางคุณค่าต่าง ๆ เป็นตัวการทำให้การยึดติดอยู่ในหลักการอำนาจอธิปไตยนี้มีความเหนียวแน่นมากยิ่งขึ้น เมื่อชาติใหม่ ๆ ทั่วโลกได้เอกราชกันแล้วก็ได้นำเรื่องนี้ไปย้ำเตือนในสหประชาชาติว่า พวกตนยึดมั่นอยู่กับแนวความคิดเรื่องความเสมอภาคแห่งรัฐมีอำนาจอธิปไตย อำนาจอธิปไตยจึงเป็นลักษณะสำคัญยิ่งของประชาคมทางการเมืองในทุกระดับ ทั้งนี้เพราะไม่ว่าจะเป็นระดับใดต่างก็จะต้องมีอำนาจในการออกกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายสูงสุดเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น

International Law : State

กฎหมายระหว่างประเทศ : รัฐ

แนวความคิดทางกฎหมายที่กล่าวถึงกลุ่มทางสังคม ซึ่งมีดินแดน มีเขตกำหนดที่แน่นอนและมีการจัดการให้อยู่ภายใต้สถาบันทางการเมืองและรัฐบาลที่มีประสิทธิผลร่วมกัน นักกฎหมายระหว่างประเทศบางคนได้เพิ่มคุณสมบัติของรัฐเข้าไปอีกอย่างหนึ่งว่า ต้องเป็นกลุ่มที่มีเจตจำนงที่จะรับพันธกรณีทางกฎหมายระหว่างประเทศในฐานะที่เป็นรัฐด้วย ในทางกฎหมายนั้นรัฐเกิดขึ้นเมื่อได้รับการรับรองจากสมาชิกอื่น ๆ ของประชาคมระหว่างประเทศ

ความสำคัญ รัฐเป็นหน่วยพื้นฐานของประชาคมทางการเมืองและทางกฎหมายระหว่างประเทศ รัฐเกิดขึ้นมาเนื่องจากเกิดการล่มสลายของระบบศักดินาในยุโรป และรัฐมีความเท่าเทียมกันในความมีอำนาจอธิปไตยในความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน รัฐในฐานะที่มีอำนาจอธิปไตยย่อมมีสิทธิที่จะกำหนดวัตถุประสงค์แห่งชาติของตน และกำหนดเทคนิควิธีที่จะนำมาใช้เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์เหล่านั้นด้วย แต่ อิสรภาพในการกระทำของรัฐมีเงื่อนไขจากปัจจัยต่าง ๆ คือ (1) จากข้อจำกัดที่เป็นทางการของกฎหมายระหว่างประเทศและขององค์การระหว่างประเทศ และ (2) จากความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจรัฐกับองค์ประกอบทางสถานการณ์ที่ไม่เป็นทางการซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมระหว่างประเทศในห้วงเวลาใดเวลาหนึ่ง

International Lawmaking : Aggression

การรัฐบัญญัติกฎหมายระหว่างประเทศ : การรุกราน

การเข้าแทรกแซงหรือการโจมตีที่ไม่บังควรของประเทศหนึ่งต่ออีกประเทศหนึ่ง การรุกรานในปรากฏการณ์ทางกฎหมายนั้นบ่งบอกถึงว่า (1) มีมาตรฐานแห่งความประพฤติร่วมกัน หรือมีระบบบรรทัดฐานร่วมกันที่ใช้ควบคุมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และ (2) พฤติกรรมอันเป็นการละเมิดมาตรฐานดังกล่าวจะถูกประณามและถูกลงโทษจากประชาคมแห่งรัฐ ในตำรากฎหมายระหว่างประเทศจะพยายามให้คำนิยาม “การรุกราน” ตลอดจนแสดงข้อแตกต่างระหว่างการรุกรานกับการปฏิบัติการป้องกันตนเองหรือการร่วมกันป้องกันตัวเองโดยชอบธรรม แต่การแตกแยกทางด้านอุดมการณ์ในสงครามเย็นเป็นตัวการให้การนิยาม “ปฏิบัติการรุกราน” มีปัญหาเพิ่มขึ้นไปอีก เมื่อไม่มีมาตรฐานระหว่างประเทศร่วมกันเช่นนี้ ข้างฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์และประเทศที่มีการปกครองตามระบอบคอมมิวนิสต์อาจจะยกย่องว่า “สงครามปลดปล่อยชาติ” เป็นสิ่งที่ถูกต้องแต่ประเทศอื่น ๆ กลับถือว่าสงครามปลดปล่อยชาตินี้เป็นปฏิบัติการรุกราน นอกจากนั้นแล้วปัญหาการนิยามนี้ก็ยิ่งมีความซับซ้อนมากขึ้นจากแนวความคิดของการรุกรานโดยอ้อม ซึ่งอาจจะรวมไปถึงปฏิบัติการต่าง ๆ คือ (1) การบ่อนทำลาย (2) การโฆษณาชวนเชื่อ (3) การรุกรานทางเศรษฐกิจ และ (4) การให้ความช่วยเหลือทางทหารแก่ผู้ก่อการร้าย

ความสำคัญ ความพยายามของรัฐที่จะพัฒนาข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยคำนิยาม “การรุกราน” ที่จะสามารถนำไปใช้กับพฤติกรรมของรัฐนั้น ยังไม่ประสบความสำเร็จ แต่ก็ยังมีการดำเนินความพยายามนี้อยู่ต่อไป ในทางปฏิบัตินั้นองค์การระหว่างประเทศจะทำการตัดสินข้อเท็จจริงเมื่อมีการรุกรานเกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ศาลทหารระหว่างประเทศที่เมื่องนูเรมเบิร์ก และที่กรุงโตเกียว ได้พบว่า ผู้นำข้างฝ่ายอักษะบางคนมีความผิดเป็นอาชญากรสงครามเนื่องจากได้ทำสงครามรุกราน ส่วนในกฎบัตรสหประชาชาตินั้นก็มีข้อความเรียกร้องให้สมาชิกของประชาคมระหว่างประเทศได้ทำการปราบปรามพฤติกรรมการรุกราน แต่ข้อเท็จจริงในเรื่องการรุกรานนี้จะตัดสินโดยคะแนนเสียงส่วนใหญ่ของรัฐในสมัชชาใหญ่หรือในคณะมนตรีความมั่นคง ดังเช่นที่คณะมนตรีความมั่นคงประกาศว่าเกาหลีเหนือ เป็นผู้รุกรานเมื่อปี ค.ศ. 1950 ส่วนคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ (ไอแอลซี) ก็ได้พยายามนานนับแรมปีที่จะกำหนดมาตรฐานต่าง ๆ ที่จะนำไปใช้ในการให้คำนิยามที่มีลักษณะครอบคลุมทุกอย่าง แต่เท่าที่ผ่านมาก็ยังไม่สามารถเสนอแนะ “สนธิสัญญาสร้างกฎหมาย” แก่สมัชชาใหญ่สหประชาชาติได้ ข้อตกลงไม่น่าจะกระทำได้สำเร็จ ตราบใดที่รัฐจำนวนหนึ่งยังทำการท้าทายความยุติธรรมของสถานภาพเดิมระหว่างประเทศกันอยู่

International Lawmaking : Codification

การบัญญัติกฎหมายระหว่างประเทศ: การทำประมวลกฎหมาย

การจัดระบบและทำถ้อยแถลงว่าด้วยกฎเกณฑ์ของกฎหมายระหว่างประเทศ การทำประมวลกฎหมายนี้มีความจำเป็นต้องให้มีเพื่อการพัฒนารุดหน้าของกฎหมายระหว่างประเทศ ทั้งนี้เพราะ (1) กฎเกณฑ์ที่นำมาใช้กับพฤติกรรมของรัฐมีการสั่งสมมาเป็นเวลานานแล้ว (2) สภาพแวดล้อมที่จะนำกฎเกณฑ์นี้มาใช้ได้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปแล้ว (3) รัฐต่าง ๆ มักจะมีผลประโยชน์และทำการตีความกฎหมายแตกต่างกันไป การทำประมวลกฎหมายจะดำเนินการดังนี้ คือ (1) ทำการกำหนดกฎเกณฑ์ที่ใช้บังคับได้จริง ๆ (2) ทำการกำหนดให้สอดคล้องกับเงื่อนไขและมาตรฐานความยุติธรรมในปัจจุบัน และ (3) สร้างระบบใหม่ขึ้นมาทั้งระบบเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานของกฎหมายตามอุดมคติ

ความสำคัญ ได้มีความพยายามทำประมวลกฎหมายระหว่างประเทศครั้งสำคัญในที่ประชุมระหว่างประเทศว่าด้วยหัวข้อต่าง ๆ ทางกฎหมาย ที่สำคัญได้แก่ประมวลกฎหมายเกี่ยวกับด้านทหารและด้านที่เกี่ยวข้อง ยกตัวอย่างเช่น ที่กระทำโดยที่ประชุมกรุงเฮกปี ค.ศ. 1899 และปี ค.ศ. 1907 และในอนุสัญญาเจนีวาปี ค.ศ. 1929 โดยทำประมวลกฎหมายเกี่ยวกับหัวข้อที่ว่าด้วยการยึดครองดินแดนและเชลยศึกเป็นต้น การประชุมเพื่อทำประมวลกฎหมายของสันนิบาตชาติเมื่อมี ค.ศ. 1930 ก่อให้เกิดข้อตกลงกว้าง ๆ ว่าด้วยหัวข้อเรื่องสัญชาติ ส่วนความพยายามที่ประสบความสำเร็จอื่น ๆ ได้แก่ (1) การประชุมเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเล (ปี ค.ศ. 1958 , 1960 และ 1982 ) และ (2) การประชุมเวียนนาว่าด้วยเอกสิทธิ์และการคุ้มกันทางการทูตปี ค.ศ. 1961 และว่าด้วยความสัมพันธ์ทางกงสุลปี ค.ศ. 1963 ส่วนในมาตรา 13 ของกฎบัตรสหประชาชาติ ก็ได้มอบหมายให้สมัชชาใหญ่ให้การสนับสนุนการทำประมวลกฎหมายระหว่างประเทศนี้ และเมื่อปี ค.ศ. 1947 สมัชชาใหญ่ก็ได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ ให้มาทำการศึกษาในด้านนี้โดยเฉพาะ

International Lawmaking : Genocide

การบัญญัติกฎหมายระหว่างประเทศ : การฆ่าล้างชาติ

การทำลายหมู่ซึ่งมวลมนุษย์เนื่องมาจากเหตุผลทางเผ่าพันธุ์ ทางศาสนา ทางสัญชาติ หรือทางชาติพันธุ์ ความวิตกของชาวโลกเกี่ยวกับการฆ่าล้างชาตินี้ ได้รับการกระตุ้นมาจากการสังหารหมู่ที่พวกนาซีกระทำต่อชาวยิว ตลอดจนกลุ่มเผ่าพันธุ์และกลุ่มชาติอื่น ๆ สมัชชาใหญ่สหประชาชาติเมื่อปี ค.ศ. 1948 จึงได้ยอมรับอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการป้องกันและการลงโทษอาชญากรรมฆ่าล้างชาติซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อปี ค.ศ. 1951 หลังจากที่ 20 ชาติได้ให้สัตยาบันอนุสัญญาฉบับนี้แล้ว อาชญากรรมที่ได้รับการรับรองในอนุสัญญาฯมีประเภทต่าง ๆ ดังนี้ (1) การฆ่า (2) การทำทารุณกรรมทางร่างกายหรือจิตใจ (3) การสร้างสภาวะเลวร้ายให้แก่ชีวิต (4) การบังคับให้คุมกำเนิด และ (5) การพรากทารกจากคนกลุ่มหนึ่งไว้กับคนอีกกลุ่มหนึ่ง บุคคลผู้ประกอบกรรมการฆ่าล้างชาติหรือยุยงให้มีการฆ่าล้างชาติ มีสิทธิได้รับโทษทันฑ์ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลหรือบุคคลพลเรือนก็ตาม

ความสำคัญ การฆ่าล้างชาติที่โลกปัจจุบันให้การรับรองว่าเป็นอาชญากรรมที่สมควรได้รับการประณามมากที่สุดอย่างหนึ่งนี้ จำเป็นจะต้องให้มีการดำเนินการแก้ไขในระดับระหว่างประเทศ ทั้งนี้เพราะว่าการฆ่าล้างชาตินี้อาจกระทำโดยรัฐบาลหรือด้วยความเห็นชอบของรัฐบาลก็ได้ สหรัฐอเมริกาได้เป็นผู้นำในการยกย่างอนุสัญญาฉบับนี้ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่องปี ค.ศ. 1951 แต่วุฒิสภาสหรัฐได้ปฏิเสธที่จะให้สัตยาบันเพราะมหาชนอเมริกันไม่ให้ควมสนใจและมีความเชื่อว่าข้อกำหนดบางมาตราของอนุสัญญาอาจจะไปละเมิดกฎหมายสหพันธรัฐและบางมาตราก็อาจจะละเมิดอำนาจที่สงวนไว้สำหรับมลรัฐต่าง ๆ ได้ แต่ในที่สุดแล้วอนุสัญญาฯ ก็ได้รับการเห็นชอบจากวุฒิสภาสหรัฐเมื่อปี ค.ศ. 1986 ถึงแม้ว่าอนุสัญญาฯ จะกำหนดให้แต่ละชาติรับผิดชอบภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศต่อการกระทำฆ่าล้างชาตินี้ แต่ก็ยังไม่มีการจัดตั้งสถาบันต่าง ๆ ขึ้นมาเพื่อให้มาบังคับใช้ในระดับระหว่างประเทศแต่อย่างใด

International Lawmaking : Hague Peace Conferences (1899 and 1907)

การบัญญัติกฎหมายระหว่างประเทศ : การประชุมสันติภาพที่กรุงเฮก (ค.ศ. 1899 และ 1907)
การประชุมระหว่างประเทศทั่วไปครั้งแรก ที่มีการเรียกร้องให้ทำประมวลและพัฒนากฎเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับปัญหาทางด้านอาวุธยุทธภัณฑ์และสงคราม การประชุมสันติภาพที่กรุงเฮกซึ่งมีรัฐต่าง ๆ เข้าร่วมประชุมอย่างพร้อมเพรียงกันถึง 26 ชาตินี้ก่อให้เกิดอนุสัญญาต่าง ๆ ดังนี้ คือ (1) อนุสัญญาว่าด้วยการแก้ไขข้อพิพาทโดยสันติวิธี (2) อนุสัญญาว่าด้วยกฎเกณฑ์สำหรับพฤติกรรมของสงครามและการปฏิบัติต่อเชลยศึก (3) อนุสัญญาว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของชาติเป็นกลาง และ (4) อนุสัญญาว่าด้วยกฎเกณฑ์ควบคุมพฤตกรรมการเก็บหนี้ระหว่างประเทศ อย่างไรก็ดีการประชุมสันติภาพที่กรุงเฮกก็มิได้สร้างข้อตกลงทั่วไปในเรื่องสำคัญ ๆ เกี่ยวกับ (1) การลดกำลังรบ (2) การจำกัดอาวุธยุทธภัณฑ์ และ (3) การอนุญาโตตุลาการโดยการบังคับ

ความสำคัญ คุณูปการที่สำคัญยิ่งของการประชุมสันติภาพที่กรุงเฮกที่มีต่อแนวทางสันติภาพ ก็คือ การจัดตั้งศาลอนุญาโตตุลาการถาวรที่กรุงเฮก รัฐที่เข้าร่วมประชุมได้รับการกระตุ้น (แต่ไม่ถึงกับมีพันธกรณี)ที่จะต้องนำกรณีพิพาทมาให้ศาลอนุญาโตตุลาการถาวรนี้ได้พิจารณายิ่งกว่าจะหันไปใช้สงครามเพื่อแก้ไขข้อพิพาท ถึงแม้ว่าการประชุมจะว่าด้วยเรื่องของการป้องกันมิให้เกิดสงคราม แต่ก็มิได้ทำให้สงครามเป็นสิ่งผิดกฎหมาย และในข้อตกลงสุดท้าย 14 ฉบับนั้นก็มีถึง 12 ฉบับเป็นข้อตกลง ว่าด้วยการควบคุมสงครามเท่านั้นเอง การประชุมสันติภาพที่กรุงเฮกมีความสำคัญในทางประวัติศาสตร์เนื่องจาก (1) การเข้าร่วมประชุมของชาติต่าง ๆ มีลักษณะเป็นสากลเป็นครั้งแรก (2) ทั้งรัฐใหญ่และรัฐเล็กเข้าร่วมกันโดยยึดความเสมอภาพของอำนาจอธิปไตย และ (3) มีการจัดตั้งกลไกการรักษาสันติภาพ และ(4) มีการใช้การทูตแบบรัฐสภาเป็นแบบของการประชุมซึ่งเป็นการวางแบบแผนเป็นตัวอย่างไว้สำหรับระบบสันนิบาตชาติและระบบสหประชาชาติ

International Lawmaking : International Law Commission (ILC)

การบัญญัติกฎหมายระหว่างประเทศ : คณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ (ไอแอลซี)

หน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นมาโดยสมัชชาใหญ่เมื่อปี ค.ศ. 1947 เพื่อให้ความช่วยเหลือสมัชชาใหญ่ในการดำเนินความรับผิดชอบที่ได้รับจากกฎบัตรสหประชาชาติ (มาตรา 13) ที่ว่า “ให้ทำการริเริ่มศึกษาและให้คำเสนอแนะ …เพื่อส่งเสริมการพัฒนาความก้าวหน้าของกฎหมายระหว่างประเทศและการทำประมวลกฎหมายระหว่างประเทศนี้” คณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายระหว่างประเทศจำนวน 21 คน ซึ่งเป็นตัวแทนของระบบกฎหมายหลักและรูปแบบแห่งอารยธรรมต่าง ๆ ของโลก คณะกรรมาธการกฎหมายระหว่างประเทศได้รับการคัดเลือกโดยยึดหลักกระจายทางภูมิศาสตร์ที่เท่าเทียมกัน จะปฏิบัติหน้าที่วาระละ 5 ปีในฐานะเอกชนยิ่งกว่าจะในฐานะผู้แทนของรัฐบาล คณะกรรมาธิการฯ จะเสนอรายงานต่าง ๆ ถึงสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ และเสนอร่างอนุสัญญาต่าง ๆ พร้อมกับให้คำแนะนำให้สมัชชาใหญ่จัดการประชุมนานาชาติเพื่อพิจารณาร่างอนุสัญญาเหล่านั้น เมื่อได้มีการปฏิบัติเช่นนี้แล้วการประชุมก็จะยอมรับ “สนธิสัญญาสร้างกฎหมาย” ที่ผูกพันต่อรัฐที่ได้ให้สัตยาบัน คณะกรรมาธิการฯ จะดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ เช่น (1) การรับรอง (2) การสืบทอดของรัฐ (3) ความคุ้มกันจากเขตอำนาจศาล (4) ทะเลหลวง (5) ความรับผิดชอบของรัฐ และ (6) วิธีพิจารณาความแบบอนุญาโตตุลาการ

ความสำคัญ คณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศนี้มีคุณูปการที่สำคัญในด้านทำประมวลกฎหมาย ยิ่งกว่าในด้านการพัฒนาระบบบรรทัดฐานสากลระบบใหม่ ระบบกฎหมายระหว่างประเทศในปัจจุบัน ส่วนใหญ่แล้วเป็นผลผลิตของรัฐเก่าที่สร้างขึ้นมาเพื่อผลประโยชน์ของรัฐเก่าและรัฐเก่าเหล่านี้ก็ไม่ต้องการเห็นมันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รัฐที่ไม่อยู่ในกลุ่มตะวันตกและรัฐที่ปกครองตามระบอบคอมมิวนิสต์บางรัฐเห็นว่ากฎหมายระหว่างประเทสในปัจจุบันมีกำเนิดที่ตะวันตก เพราะฉะนั้นจึงได้เรียกร้องให้มีระบบ “ที่มีความทันสมัย” เพื่อนำมาใช้กับ “ความเป็นจริงทางการเมืองในปัจจุบัน” คณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศมีแนวโน้มว่าจะไม่สามารถสร้างระบบสากลแบบใหม่ขึ้นมาได้ จนกว่าจะเกิดฉันทามติทางการเมืองในระดับโลกเกี่ยวกับฐานที่จะนำมาใช้รองรับระบบ ในขณะที่คณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศดำเนินการทำประมวลกฎหมายที่มีอยู่ให้คืบหน้าต่อไปอยู่นั้น ก็มีกฎหมายใหม่เกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ เป็นต้นว่า กฎหมายว่าด้วยการจราจรบนท้องถนน กฎหมายว่าด้วยเสรีภาพทางสารสนเทศได้เกิดขึ้นมาในรูปของร่างอนุสัญญาจากหน่วงงานอื่น ๆ เช่น คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนคณะกรรมาธิการคณะต่าง ๆ ของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม

International Lawmaking : International Legislation

การบัญญัติกฎหมายระหว่างประเทศ : การตรากฎหมายระหว่างประเทศ

สนธิสัญญาหรืออนุสัญญาแบบพหุภาคีที่ออกแบบไว้เพื่อทำการประมวล ดัดแปลง และริเริ่มกฎเกณฑ์ทางกฎหมายให้รัฐต่าง ๆ นำไปปฏิบัติในความสัมพันธ์ระหว่างกัน การตรากฎหมายระหว่างประเทศจะสำเร็จได้ก็โดยการมี “สนธิสัญญาสร้างกฎหมาย” นี้เท่านั้น ทั้งนี้เพราะรัฐต่าง ๆ ยืนยันว่าเมื่อระบบรัฐมีอำนาจอธิปไตยนี้ยังทำงานอยู่ต่อไป รัฐต่าง ๆ จะสามารถมีพันธกรณีได้ก็โดยความยินยอมของตนเท่านั้น สนธิสัญญาสร้างกฎหมายนี้สามารถเขียนขึ้นมา(1)โดยการประชุมเฉพาะกิจ (2) โดยสถาบันในระดับภูมิภาค และ (3) โดยองค์การระหว่างประเทศ เช่น ทบวงการชำนัญพิเศษต่าง ๆ และสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ วิธีดำเนินการที่สหประชาชาตินำมาใช้เพื่อทำการตรากฎหมายระหว่างประเทศมีดังนี้ (1) ให้คณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ (ไอแอลซี) ทำการศึกษา ซึ่งก็จะส่งผลให้มีการร่างมาตราต่าง ๆ ของข้อตกลงขึ้นมา จากนั้นก็ยื่นให้สมัชชาใหญ่ได้พิจารณา (2) สมัชชาจะมีมติเรียกร้องให้มีการประชุมนานาชาติเพื่อพิจารณาร่างดังกล่าว (3) มีการให้การยอมรับและให้สัตยาบันโดยรัฐแต่ละรัฐ และ (4) มีการจดทะเบียนข้อตกลงโดยเลขาธิการสหประชาชาติ การตรากฎหมายระหว่างประเทศโดยการใช้ “สนธิสัญญาสร้างกฎหมาย“ มีตัวอย่างเมื่อไม่นานมานี้ คือ อนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยทะเลอำณาเขตและเขตต่อเนื่อง (ค.ศ. 1958) อนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยการประมง(ค.ศ. 1958) อนุสัญญาเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูต (ค.ศ. 1961) และอนุสัญญาเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางกงสุล (ค.ศ. 1963)


ความสำคัญ การตรากฎหมายระหว่างประเทศเป็นแนวความคิดที่ต้องการสร้างกฎเกณฑ์เพื่อสัมพันธภาพอันดีระหว่างรัฐ จากจุดนี้เองทำให้เห็นข้อคล้ายคลึงกันระหว่างการตรากฎหมายภายในประเทศกับการตรากฎหมายระหว่างประเทศ แม้ว่ากระบวนการทางนิติบัญญัติในแต่ละระดับจะไม่เหมือนกันก็ตาม ไม่มีองค์การนิติบัญญัติของโลกเมื่อเทียบกับฝ่ายนิติบัญญัติภายในของแต่ละชาติ และในการเขียน
กฎบัญญัติสหประชาชาติเมื่อปี ค.ศ. 1945 นั้น ข้อเสนอให้มีการมอบอำนาจทางนิติบัญญัติให้แก่สมัชชาใหญ่ถูกปฏิเสธอย่างท่วมท้นจากรัฐสมาชิก

International Lawmaking : Law of the Sea

การบัญญัติกฎหมายระหว่างประเทศ : กฎหมายทะเล

กฎเกณฑ์ทางกฎหมายระหว่างประเทศ ที่กำหนดเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ทางทะเลของรัฐ กฎหมายทะเลซึ่งเป็นสาขาที่เก่าแก่ที่สุดของกฎหมายระหว่างประเทศนั้น ได้วิวัฒนาการมาจากจรรยาบรรณโบราณที่อิงอาศัยจารีตประเพณีในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและหน้าที่ของพ่อค้าและเจ้าของเรือ บรรทัดฐานเดิมที่มีอยู่ก่อนกฎหมายทะเล ได้แก่ (1) กฎหมายโรเดียน (คริสตศตวรรษที่ 9) (2) ตาบูลา อมัลฟิตานา (คริสตศตวรรณที่ 11) (3) กฎหมายแห่งโอลีรอน (คริสตศตวรรษที่ 12) (4) กฎหมายวิสบี (คริสตศตวรรษที่ 13 และ 14) และ (5) คอนโตดาโตเดล แมเร (คริสตศตวรรษที่ 14) ที่มาของกฎหมายทะเลได้แก่ (1) จารีตประเพณีระหว่างประเทศ (2) การบัญญัติกฎหมายภายในชาติ (3) สนธิสัญญา และ (4) ผลงานของการประชุมระหว่างประเทศด้วยเรื่องเรื่องเหล่านี้

ความสำคัญ กฎหมายทะเลอิงหลักพื้นฐาน 2 หลัก คือ (1) หลักเสรีภาพของทุกรัฐที่จะใช้ทะเลหลวงโดยปราศจากการแทรกแซง และ (2) หลักความรับผิดชอบของแต่ละรัฐที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยทางทะเล แต่ละรัฐมีอำนาจศาลเหนือเรือของตนที่อยู่ภายในน่านน้ำอาณาเขตของตน เรือที่อยู่ในน่านน้ำอาณาเขตของรัฐต่างชาติยังคงอยู่ภายใต้เขตอำนาจศาลของรัฐที่เรือนั้นติดธง เว้นเสียแต่ว่าเรือนั้นจะคุกคามความสงบและความเรียบร้อยของรัฏฐาธิปัตย์ชายผั่ง การประชุมที่เจนีวาปี ค.ศ. 1958 (ยูเอ็นซีแอลโอเอส – วัน) และการประชุมที่เจนีวาปี ค.ศ. 1960 (ยูเอ็นซีแอลโอเอส – ทู) เป็นการเพิ่มเติมกฎหมายทะเลด้วยอนุสัญญาต่าง ๆ คือ (1) อนุสัญญาว่าด้วยการให้นิยามของเส้นฐานที่ใช้วัดทะเลอาณาเขตและเขตต่อเนื่อง (2) อนุสัญญาว่าด้วยการสัญจรผ่านโดยบริสุทธิ์ (3) อนุสัญญาว่าด้วยการสำรวจอาหารและแร่ธาตุจากดินใต้ผิวดินของเขตไหล่ทวีปและจากท้องทะเล และ (4) อนุสัญญาว่าด้วยการอนุรักษ์ชีวิตสัตว์และพืชในทะเล ส่วนการประชุมกฎหมายระหว่างประเทศระลอกใหม่เกิดขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1973 ถึง 1982 (ยูเอ็นซีแอลโอเอส – ทรี) ได้มีข้อตกลงต่าง ๆ คือ (1) ข้อตกลงว่าด้วยเขตอำนาจศาลของชาติเหนือทะเลอาณาเขต 12 ไมล์ (2) ข้อตกลงว่าด้วยสิทธิของรัฐชายฝั่งเหนือเขตเศรษกิจจำเพาะสองร้อยไมล์ (อีอีเอฟ) และ (3) ข้อตกลงว่าด้วยการสัญจรผ่าน สัญจรเหนือ หรือสัญจรใต้ช่องแคบที่ใช้สำหรับการสัญจรระหว่างประเทศ ส่วนเรื่องที่ยังตกลงกันไม่ได้ก็คือ เรื่องที่เกี่ยวกับลักษณะของการควบคุมเหนือการทำเหมืองแร่ในทะเลลึกและการเข้าไปใช้ทรัพยากรทางทะเลในรูปแบบอื่น ๆ นอกเขตเศรษฐกิจจำเพาะสองร้อยไมล์ ประเด็นที่ยังตกลงกับยังไม่ได้นี้ได้ผูกโยงไว้กับขอบเขตของอำนาจที่จะมอบให้แก่องค์การท้องทะเลระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติที่ได้รับการเสนอให้จัดตั้งขึ้นมา ซึ่งองค์การฯ นี้จะทำหน้าที่ควบคุมการสำรวจและการเข้าไปใช้ทรัพยากรในทะเลลึก เมื่อสามารถบรรลุข้อตกลงในเรื่องสำคัญต่อไปนี้ได้แล้ว คือ (1) การลงคะแนนเสียง (2) การออกใบอนุญาต และ (3) การเก็บค่าภาคหลวง รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ไม่พอใจกับข้อกำหนดดังกล่าวจึงได้ปฏิเสธอนุสัญญาว่าด้วยกฎหมายทะเลแห่งสหประชาชาติปี ค.ศ. 1982

Internatonal Lawmaking : War Crimes Trials

การบัญญัติกฎมายระหว่างประเทศ : การพิจารณาคดีอาชญากรรมสงคราม

การพิจารณาคดีของบุคคลจากรัฐที่แพ้สงครามเพื่อกำหนดโทษและบทลงโทษของบุคคลไม่ใช่ของชาติในฐานะที่ประกอบอาชญากรรมในระหว่างสงครามหรือในฐานะที่เป็นผู้ก่อสงคราม สนธิสัญญาแวร์ซายส์หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งได้วางไว้เป็นบรรทัดฐานกำหนดให้มีการพิจารณาคดีและทำการลงโทษจักรพรรดิเยอรมันและบุคคลในกองทัพเยอรมันแต่ฝ่ายพันธมิตรมิได้ดำเนินการพิจารณาคดีแต่อย่างใด หลังสงครามโลกครั้งที่สองอาชญากรสงครามเยอรมันคนสำคัญจำนวน 22 คน ถูกศาลทหารระหว่างประเทศ พิจารณาคดีที่เมืองนูเรมเบิร์ก ซึ่งศาลทหารฯ คณะนี้ประกอบด้วยคณะลูกขุนจากอังกฤษ ฝรั่งเศส สหภาพโซเวียต และสหรัฐอเมริกา จำเลยถูกกล่าวหาว่ามีความผิดฐาน (1) ประกอบอาชญากรรมต่อต้านสันติภาพ (2) ประกอบอาชญากรรมสงคราม และ (3) ประกอบอาชญากรรมต่อต้านมนุษยชาติ จำเลย 12 คนถูกตัดสินให้ประหารชีวิต 7 คนได้รับโทษจำคุก ส่วนอีก 3 คนพ้นผิด ภายใต้กฏบัตรศาลทหารระหว่างประเทศสำหรับตะวันออกไกลนั้นมีอาชญากรสงครามญี่ปุ่นคนสำคัญ ๆ ถูกพิจารณาคดีในกรุงโตเกียวด้วยข้อหาทำนองเดียวกับที่นูเรมเบิร์ก โดยคณะลูกขุนที่เป็นตัวแทนของ 11 ประเทศที่ทำสงครามกับญี่ปุ่น

ความสำคัญ การพิจารณาคดีอาชญากรสงครามที่นูเรมเบิร์กและที่โตเกียว เป็นการเปิดหน้าใหม่ในการพัฒนากฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสงคราม ก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสงครามโลกครั้งที่สองนั้นมีกฎหมายจารีตประเพณีกำหนดไว้ว่า เมื่อสงครามยุติลงแล้วก็ให้ทำการนิรโทษกรรมแก่บุคคลที่เป็นศัตรูทั้งปวงซึ่งได้กระทำความผิดเกี่ยวกับการรับราชการทหารของพวกเขาเสีย แต่จากความเหี้ยมโหดของสงครามเบ็ดเสร็จก็ดี และจากความเกลียดชังกันอย่างเข้ากระดูกดำอันเกิดจากความขัดแย้งทางด้านอุดมการณ์ก็ดี ทำให้มีคนตั้งคำถามขึ้นว่าการให้นิรโทษกรรมนี้จะมีการนำกลับมาใช้กันอีกหรือไม่ปฏิกิริยาทางกฎหมายต่อการพิจราณาคดีที่นูเรมเบิร์กและที่โตเกียวมีแตกต่างกันไป การวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการตัดสินคดีด้วยข้อหาว่าประกอบอาชาญกรรมสงครามและข้อหาว่าประกอบอาชญากรรมต่อต้านมนุษยชาตินั้นมีน้อย เนื่องจากมีกฎหมายจารีตประเพณีได้ให้การรับรองสิทธิของผู้ชนะให้สามารถพิจารณาลงโทษบุคคลในกองทัพของศัตรูในโทษฐานละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศได้ แต่แนวความคิดที่ว่าจำเลยมีโทษฐานประกอบอาชญากรรมต่อต้านสันติภาพนั้นเป็นการเปิดข้อกล่าวหาใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนหน้านี้ ได้มีการยกประเด็นปัญหาทางกฎหมายขึ้นมาถามในส่วนที่เกี่ยวกับข้อกล่าวหาว่าประกอบอาชญากรรมต่อต้านสันติภาพดังนี้ (1) เราจะสามารถแสดงข้อแตกต่างระหว่างสงครามรุกรานที่ถือว่าเป็นอาชญากรรม กับอาชญากรรมที่กระทำในช่วงที่เกิดสงครามได้อย่างกระจ่างชัดหรือไม่ (2) กติกาสัญญาเคลลอกก์–บริอังด์ ที่ทำให้สงครามรุกรานเป็นสิ่งผิดกฎหมายนั้นมีความหมายบ่งบอกให้บุคคลต้องรับผิดชอบในอาชญากรรมด้วยใช่หรือไม่ (3) ข้อแตกต่างระหว่างสงครามรุกรานกับสงครามป้องกันตัวมีความกระจ่างชัดพอที่จะนำมาใช้ประเมินความรับผิดชอบทางด้านอาชญากรรมของบุคคลได้หรือไม่ และ (4) ศาลที่เมืองนูเรมเบิร์กซึ่งประกอบด้วยคณะลูกขุนจากแค่ 4 รัฐเท่านั้น จะถือว่าเป็นศาลระหว่างประเทศที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาคมโลกได้หรือไม่ สหประชาชาติได้พยายามหาทางสร้างความถูกต้องทางกฎหมายให้แก่หลักการที่ว่าบุคคลจะต้องรับผิดชอบต่ออาชญากรรมที่ใช้เป็นรากฐานสำหรับพิจารณาคดีอาชญากรรมสงคราม โดยการพัฒนาหลักกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยอาชญากรรมต่อต้านสันติภาพและต่อต้านความมั่นคงของมนุษยชาติขึ้นมา สมัชชาใหญ่ได้มอบหมายให้คณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ (ไอแอลซี) ทำการตระเตรียมร่างหลักการนี้ แต่ปัญหาการพัฒนาคำนิยามของคำว่า “การรุกราน” ให้เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปก็ได้มาเป็นตัวสกัดกั้นมิให้กระบวนการในเรื่องนี้คือหน้าต่อไปได้

Tuesday, October 6, 2009

Jurisdiction

เขตอำนาจ

สิทธิของรัฐหรือของศาลที่จะพูดหรือกระทำด้วยอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย เขตอำนาจตามกฎหมายจะเกี่ยวข้องกับการอ้างสิทธิเข้าควบคุมบุคคล ทรัพย์สิน คนในบังคับ และสถานการณ์ ในอาณาเขตทางกฎหมาย ทางการเมือง และทางภูมิศาสตร์ ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศนั้นเขตอำนาจตามกฎหมายเหนือดินแดนสามารถได้มาโดยวิธี (1) แผ่นดินงอก (2) การยกให้ (3) การพิชิต (4) การค้นพบ และ (5) การครอบครองมาเป็นเวลานาน

ความสำคัญ ในโลกซึ่งประกอบด้วยรัฐที่มีเอกราชและอำนาจอธิปไตยจำนวนมากกว่า 180 ชาตินี้ ก็ย่อมจะมีปัญหาของเขตอำนาจตามกฎหมายเข้ามาเกี่ยวข้องในรูปแบบของการขัดแย้งระหว่างประเทศ การเจรจากัน และการอนุญาตโตตุลาการ การขัดแย้งเกี่ยวกับเขตอำนาจทางกฎหมายระหว่างรัฐมักจะเกี่ยวกับข้องกับเรื่องต่อไปนี้ (1) ความเป็นพลเมือง (2) เส้นพรมแดน (3) น่านฟ้า (4) ทะเลหลวง (5) สิทธิในการประมง (6) น่านน้ำอาณาเขต (7) การผ่านโดยบริสุทธิ์ และ (8) อวกาศ

Jurisdiction : Accretion

เขตอำนาจ :ดินแดนงอก

ดินแดนที่ได้เพิ่มขึ้นมาโดยการทับถมของวัตถุในแม่น้ำหรือในทะเล ซึ่งอาจตกเป็นของรัฐผืนแผ่นดินใหญ่หรือรัฐชายฝั่งก็ได้ หลักการได้ดินแดนงอก กล่าวคือ ดินแดนที่เพิ่มขึ้นโดยธรรมชาติจากดินแดนเดิมให้มาอยู่ภายใต้เขตอำนาจตามกฎหมายเดียวกันนี้ เป็นหลักการที่มีมาตั้งแต่ยุคกฎหมายโรมันจากผลงานของฮูโก กรอติอุส สิ่งที่เพิ่มมาว่านี้อาจจะงอกขึ้นตามฝั่งแม่น้ำหรือฝั่งมหาสมุทรหรืออาจจะเป็นเกาะแก่งหรือดินดอนปากแม่น้ำก็ได้

ความสำคัญ การได้ดินแดนเพิ่มโดยการงอกของแผ่นดินนี้ อาจสร้างปัญหาทางการเมืองและทางเศรษฐกิจที่ร้ายแรงที่เกี่ยวข้องกับเขตอำนาจของกฎหมายเหนือดินแดนได้ ปัญหาเหล่านี้อาจจะหมายถึงการเกิดเกาะในแม่น้ำที่ใช้เป็นเส้นพรมแดนระหว่างประเทศ หรือเกิดเกาะหรือดินดอนสามเหลี่ยมในเส้นแนวชายฝั่ง ซึ่งเป็นการขยายน่านน้ำอาณาเขตของรัฐออกไปในมหาสมุทรมากขึ้น

Jurisdiction , Admiralty

เขตอำนาจเหนือกิจการพาณิชยนาวี

อำนาจหน้าที่ของรัฐเหนือกิจการพาณิชยนาวี เขตอำนาจเหนือกิจการพาณิชยนาวีเป็นเขตที่ต้องใช้เทคนิคทางนิติศาสตร์ในระดับสูงซึ่งมีอยู่ในกฎหมายภายใน จะเกี่ยวกับเรื่องการพาณิชย์และการเดินเรือทางทะเล ตลอดจนการควบคุมเรื่องดังกล่าว กฎหมายการพาณิชยนาวีจะกล่าวถึงเรื่องต่อไปนี้ คือ (1) เขตอำนาจเหนือเรือ เหนือท่าเรือ เหนือกลาสี และเหนือน่านน้ำอาณาเขต (2) การฟ้องร้องทางแพ่งและทางอาญา (3) ทรัพย์ส่วนที่เป็นเรือและส่วนที่เป็นสินค้า (4) การขนส่งผู้โดยสาร (5) สิทธิของสมาชิกลูกเรือ และ (6) การควบคุมดูแลความปลอดภัย

ความสำคัญ เนื่องจากรัฐมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นและการค้ากับการพาณิชย์ก็มีความสำคัญเพิ่มมากขึ้นสำหรับรัฐต่าง ๆ เหล่านี้ ดังนั้นจึงก่อให้เกิดกฎเกณฑ์และข้อบังคับระหว่างประเทศมีปริมาณเพิ่มขึ้นมากมาย เมื่อกฎเกณฑ์และข้อบังคับระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นมามากเช่นนี้แล้ว รัฐต่าง ๆ ให้การรับรองถึงความจำเป็นว่าจะต้องมีแนวทางปฏิบัติเป็นอย่างเดียวกันมากขึ้น ความพยายามที่จะสร้างหลักปฏิบัติให้เป็นแบบเดียวกับของกฎหมายพาณิชยนาวีโดยสนธิสัญญาและการออกกฎหมายลูกต่าง ๆ ได้ประสบความสำเร็จมากพอสมควรในด้านต่าง ๆ คือ (1) ด้านการควบคุมสุขลักษณะ (2) ด้านการกู้ภัยและการให้ความช่วยเหลือ (3) ด้านการโดนกันของเรือ (4) ด้านความปลอดภัยทางทะเล (5) ด้านเส้นขีดเครื่องหมายแนวบรรทุกเต็มที่ (6) ด้านการใช้ท่าเรือพาณิชยนาวี (7) ด้านการประมงในทะเลหลวง และ (8) ด้านทะเลอาณาเขต แต่ถ้าหากไม่มีสนธิสัญญาต่าง ๆ ดังกล่าว เขตอำนาจเหนือการพาณิชยนาวีก็จะถูกกำหนดโดยกฎหมายภายในของรัฐต่าง ๆ

Jurisdiction : Airspace

เขตอำนาจ : น่านฟ้า

อำนาจอธิปไตยของรัฐเหนือน่านฟ้าที่อยู่เหนือดินแดนของตน เขตอำนาจเหนือน่านฟ้าของชาตินี้ได้รับการรับรองจากอนุสัญญาชิคาโกว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ค.ศ. 1944) แต่ก็ถูกจำกัดโดยสนธิสัญญาทวิภาคี และพหุภาคีที่รัฐอาจจะเป็นภาคีได้ การประชุมที่ชิคาโกได้ทำการจัดตั้งองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอซีเอโอ) ขึ้นมาเพื่อให้เป็นไปตามหลักการของอนุสัญญาและพัฒนาหลักเกณฑ์การสัญจรทางอากาศระหว่างประเทศ เสรีภาพของการสัญจรทางอากาศอันเป็นหลักการทั่วไปมีอยู่เฉพาะเหนือทะเลหลวงและเหนือผิวโลกเฉพาะส่วนที่มิได้อยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐใด ๆ เช่น ทวีปแอนตาร์กติกา เป็นต้น เครื่องบินของทางการทหารและของรัฐอื่น ๆ ถือว่ามิใช่ยานพาหนะปกตินั้น จะต้องได้รับมอบอำนาจพิเศษก่อนจึงจะใช้น่านฟ้าของรัฐอื่นได้

ความสำคัญ เขตอำนาจเหนือน่านฟ้าแห่งชาติเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นเพราะเทคโนโลยีได้ทำให้การพาณิชย์ทางอากาศทำได้อย่างรวดเร็วและทำได้ในปริมาณที่เพิ่มมากยิ่งขึ้น ก่อนสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง เขตอำนาจเหนือน่านฟ้าแห่งชาติมี 2 ทฤษฎี คือ (1) ทฤษฎีที่ให้เสรีภาพในการสัญจรทางอากาศ และ (2) ทฤษฎีที่ให้รัฐชาติทำการควบคุมการสัญจรทางอากาศ เมื่อได้มีการประดิษฐ์เครื่องบินทิ้งระเบิดและมีเครื่องตรวจจับทางอากาศที่มีประสิทธิผลขึ้นมาแล้ว จึงได้มีการยอมรับกันโดยทั่วไปให้รัฐชาติทำการควบคุมการสัญจรทางอากาศนี้ แต่การพัฒนาทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา ทำให้เกิดปัญหาทางด้านปฏิบัติว่าอำนาจอธิปไตยของชาติเหนือน่านฟ้านี้จะให้เหนือขึ้นไปไกลได้ขนาดใด เมื่อมีการส่งจรวด อาวุธปล่อย ดาวเทียม และยานอวกาศไปกลับโลกได้แล้ว ก็เป็นการเปิดศักราชใหม่ให้มีการเจรจาเพื่อพัฒนากฎหมายว่าด้วยอวกาศระหว่างประเทศ

Jurisdiction : Annexation

เขตอำนาจ : การผนวกดินแดน

การได้ดินแดนเพิ่มโดยการประกาศของรัฐที่ได้ดินแดนว่า ตนได้ขยายอำนาจอธิปไตยและจะใช้เขตอำนาจศาลเหนือพื้นที่ที่ผนวกเข้ามานั้น

ความสำคัญ การขยายอำนาจอธิปไตยโดยการผนวกดินแดนนี้ อาจจะใช้ข้ออ้างต่าง ๆ เช่น (1) เป็นดินแดนที่ตนค้นพบเอง (2) เป็นดินแดนในความยึดครองของตนเอง หรือ (3) เป็นดินแดนที่ตนเองเข้าครอบครองมานานอย่างต่อเนื่อง เมื่อปี ค.ศ. 1938 ประเทศเยอรมนีประกาศผนวกประเทศออสเตรียโดยอ้างถึงพฤติกรรมของรัฐบาลออสเตรียว่าเป็นเหตุให้ต้องทำการเปลี่ยนแปลงออสเตรียมาเป็นรัฐหนึ่งของอาณาจักรไรช์ของเยอรมัน การผนวกดินแดนอาจจะไม่ได้รับการต่อต้านจากฝ่ายที่สามก็ได้ ตัวอย่างเช่น กรณีของการผนวกเกาะแจนมาเยินโดยนอร์เวย์เมื่อปี ค.ศ. 1920 แต่การประกาศผนวกดินแดนอาจได้รับการประท้วงและอ้างสิทธิ์แย้งขึ้นมาได้ ตัวอย่างเช่น กรณีเกี่ยวกับสถานภาพทางกฎหมายของกรีนแลนด์ตะวันออกเมื่อปี ค.ศ. 1933 ซึ่งในกรณีนี้ผู้อ้างสิทธ์ทั้งสองฝ่ายคือเดนมาร์กและนอร์เวย์ได้นำเรื่องเสนอให้ ศาลยุติธรรมถาวรระหว่างประเทศได้พิจารณา ซึ่งศาลฯ ได้ตัดสินให้ฝ่ายเดนมาร์กเป็นผู้ชนะคดี

Jurisdiction : Avulsion

เขตอำนาจ : การเปลี่ยนแปลงของที่ดินโดยกระแสน้ำ


กฎเกณฑ์ของกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยที่ตั้งของเส้นพรมแดนระหว่างประเทศระหว่างสองรัฐที่มีแม่น้ำคั่นอยู่ตรงกลาง เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของร่องน้ำลึกโดยฉับพลัน ภายใต้กฎเกณฑ์ของการเปลี่ยนแปลงที่ดินโดยกระแสน้ำนั้น ให้ถือว่าเส้นเขตแดนยังอยู่ที่เดิมต่อไป

ความสำคัญ การเปลี่ยนแปลงร่องน้ำอย่างฉับพลันอาจจะทำให้ต้องสูญเสียดินแดนไปเป็นจำนวนมากเมื่อเทียบกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากการถูกกระแสน้ำกัดเซาะและเกิดการงอกของแผ่นดินซึ่งเป็นไปอย่างช้า ๆ หากไม่มีกฎเกณฑ์กำหนดไว้เช่นนี้แล้วก็อาจจะก่อให้เกิดปัญหารุนแรงระหว่างประเทศได้ ยกตัวอย่างเช่น ข้อพิพาทเรื่องร่องน้ำชามิซาลระหว่างสหรัฐอเมริกากับเม็กซิโก เมื่อปี ค.ศ. 1864 แม่น้ำริโอแกรนด์เกิดเปลี่ยนแปลงทางเดินอย่างฉับพลัน ทำให้เกิดปัญหาเรื่องเขตอำนาจเหนือดินแดนระหว่างร่องน้ำเก่ากับร่องน้ำใหม่ ปัญหานี้ยืดเยื้อมานานจึงแก้ได้สำเร็จเมื่อปี ค.ศ. 1967

Jurisdiction : Cession

เขตอำนาจ : ดินแดนที่ได้มาโดยการโอน

การโอนอำนาจอธิปไตยเหนือดินแดน โดยมีข้อตกลงระหว่างรัฐผู้โอนกับรัฐผู้รับโอน ดินแดนที่ได้มาโดยการโอนนี้ อาจจะหมายถึงการโอนดินแดนทั้งหมด หรือโอนให้เพราะส่วนหนึ่งของดินแดนทั้งหมดของรัฐผู้โอนก็ได้ ถ้าเป็นกรณีโอนดินแดนให้ทั้งหมด รัฐผู้โอนก็จะสิ้นสูญไปเพราะถูกผนวกเข้าไปอยู่ในรัฐผู้โอนนั่นแล้ว ยกตัวอย่างเช่น เกาหลีได้กลายเป็นดินแดนของญี่ปุ่นโดยสนธิสัญญาปี ค.ศ. 1910

ความสำคัญ สนธิสัญญาการโอนดินแดน (1) จะสร้างความชอบธรรมให้แก่ดินแดนที่ได้มาจากการโอนอำนาจอธิปไตยอย่างเป็นทางการแล้วนั้น (2) จะบอกถึงรูปพรรณสัณฐานของดินแดนที่ได้มานั้น และ (3) จะมีการระบุถึงเงื่อนไขของการโอนไว้ด้วย ความถูกต้องตามกฎหมายของการโอนดินแดนนี้ไม่จำเป็นว่าจะต้องได้รับความยินยอมจากประชาชนของดินแดนที่ถูกโอนนั้นก็ได้ แต่เมื่อดูจากหลักการ “การกำหนดการปกครองด้วยตนเอง” ก็ทำให้มีความรู้สึกคล้ายกับว่าการโอนดินแดนจะถูกต้องตามกฎหมายได้นั้นจะต้องให้ประชาชนให้ความยินยอมเสียก่อน การโอนดินแดนอาจกระทำโดยความสมัครใจ ตัวอย่าง คือ การซื้อดินแดนหลุยเซียนา (สหรัฐอเมริกา) หรืออาจจะกระทำโดยความไม่สมัครใจ เช่น กรณีที่ถูกบังคับโดยบทบัญญัติของสนธิสัญญาสันติภาพ เป็นต้น

Jurisdiction : Condominium

เขตอำนาจ : ดินแดนใต้การปกครองร่วม

ดินแดนยังต้องพึ่งพิงรัฐอื่น ที่ถูกปกครองร่วมกันโดยองค์อธิปัตย์ 2 องค์หรือมีมากกว่า ในดินแดนใต้การปกครองร่วมนี้จะมีการนำระบบกฎหมายของสองรัฐนั้นมาใช้ควบคุมเคียงคู่กันไป และเพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาเรื่องเขตอำนาจก็จะมีการระบุไว้ในข้อตกลงระหว่างสององค์อธิปัตย์นั้น ตัวอย่างของดินแดนใต้การปกครองร่วม ได้แก่ ซูดาน (ระหว่างอังกฤษกับฝรั่งเศส ค.ศ. 1914) เกาะแคนตัน และเกาะเอนเดอร์เบอรี (ระหว่างอังกฤษกับสหรัฐอเมริกา ค.ศ. 1938)

ความสำคัญ ในดินแดนใต้การปกครองร่วม จะไม่มีองค์อธิปัตย์ภายนอกใดมีเขตอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียว และอำนาจอธิปไตยก็มิได้อยู่กับประชาชนที่พำนักอยู่ในดินแดนดังกล่าวด้วย ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและในกฎหมายระหว่างประเทศนั้น ดินแดนใต้การปกครองร่วมในฐานะที่เป็นรูปแบบหนึ่งของเขตอำนาจเหนือดินแดนนั้นเป็นปรากฎการณ์ที่นานทีจะมีสักหน การที่อังกฤษ ฝรั่งเศส สหภาพโซเวียต และสหรัฐอเมริกา เข้าควบคุมเยอรมนีในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองนั้น ไม่ถือว่าเยอรมนีเป็นดินแดนใต้การปกครองร่วม แต่เป็นการถูกยึดครองทางทหารในรูปแบบหนึ่งเท่านั้นเอง

Jurisdiction : Contiguous Zone

เขตอำนาจ : เขตต่อเนื่อง

พื้นที่นอกน่านน้ำอาณาเขตที่รัฐชายฝั่งยังคงมีอิสระที่จะไปบังคับให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายของตนได้ ขอบเขตของเขตต่อเนื่องและเขตอำนาจของรัฐชายฝั่งมีการนิยามไว้ในข้อ 24 ของอนุสัญญานครเจนีวาว่าด้วยทะเลอาณาเขตและเขตต่อเนื่อง (ค.ศ. 1958) ความว่าดังนี้ : “(1) ในเขตทะเลหลวงซึ่งต่อเนื่องกับทะเลอาณาเขตของตน รัฐชายฝั่งอาจดำเนินการควบคุมตามที่จำเป็นเพื่อ (ก) ป้องกันการละเมิดข้อบังคับเกี่ยวกับการศุลกากร รัษฎากร การเข้าเมือง หรือการอนามัย ภายในอาณาเขตหรือทะเลอาณาเขตของตน และ (ข) ลงโทษการละเมิดข้อบังคับข้างต้นซึ่งได้กระทำภายในอาณาเขตหรือทะเลอาณาเขตของตน และ (2) เขตต่อเนื่องมิอาจจะขยายเกินกว่าสิบสองไมล์นับจากเส้นฐานซึ่งใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขต”


ความสำคัญ แนวความคิดเรื่องเขตต่อเนื่องบ่งบอกถึงความมีอยู่ของพื้นที่พิเศษแห่งหนึ่งของทะเลหลวงที่รัฐชายฝั่งไม่อาจอ้างอำนาจอธิปไตยเหนือได้ แต่เป็นที่ซึ่งอาจใช้เขตอำนาจเพื่อวัตถุประสงค์ที่จำกัดบางอย่างได้ เช่น เพื่อบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการศุลกากร เป็นต้น ทุกรัฐต่างให้การรับรองว่ารัฐชายฝั่งมีเขตอำนาจเหนือน่านน้ำอาณาเขตอย่างน้อยสามไมล์ แต่นอกเหนือจากน่านน้ำอาณาเขตนี้แล้ว ตามประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาสามารถตกลงกันไม่ค่อยจะได้เกี่ยวกับขอบเขตของเขตอำนาจของแต่ละรัฐ รัฐต่าง ๆ ก็จึงอ้างเขตอำนาจที่แตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น อังกฤษ และสหรัฐอเมริกาอ้างสิทธิ์ตามประเพณีนิยมที่จะขยายเขตอำนาจที่จำกัดนี้ไปถึงเขตเกินสิบสองไมล์จากชายฝั่งทะเลของตน อย่างไรก็ตามแนวความคิดในเรื่องเขตต่อเนื่องนี้ในที่สุดก็ได้รับการยอมรับในการอภิปรายของคณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ (ไอแอลซี) และในที่ประชุมเจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเล และได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายระหว่างประเทศในปี ค.ศ. 1964 สำหรับประเทศผู้ลงนามที่ได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญาว่าด้วยทะเลอาณาเขต

Jurisdiction , Domestic

เขตอำนาจภายในของรัฐ

กิจการดำเนินชีวิตภายในของรัฐที่ถูกควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดโดยกฎหมายภายในของรัฐ จะไม่ยอมให้กฎหมายระหว่างประเทศเข้ามาควบคุมได้ เขตอำนาจภายในของรัฐก็จึงเป็นองค์ประกอบอย่างหนึ่งของอำนาจอธิปไตยของชาติ ในข้อ 2 ของกฎบัตรสหประชาชาติได้กำหนดไว้ว่า “ไม่มีข้อความใดในกฎบัตรปัจจุบันจะให้อำนาจสหประชาชาติเข้าแทรกแซงในเรื่องโดยสาระสำคัญแล้วตกอยู่ในเขตอำนาจภายในของรัฐ หรือจะเรียกร้องสมาชิกให้ต้องเสนอเรื่องเช่นว่าเพื่อจัดระงับตามกฎบัตรปัจจุบัน”

ความสำคัญ จากแนวความคิดเรื่องเขตอำนาจภายในของรัฐนี้ เป็นการบ่งบอกว่า กฎหมายระหว่างประเทศมิได้เป็นกฎหมายสากล หากแต่เป็นกฎหมายที่มีข้อจำกัดในการใช้เฉพาะกับเรื่องต่าง ๆ ที่ได้รับการยอมรับโดยรัฐอธิปไตยทั้งหลายที่ประกอบเป็นประชาคมระหว่างประเทศเท่านั้น ในการกำหนดเขตแดนระหว่างเขตอำนาจภายในของรัฐกับเขตอำนาจระหว่างประเทศ ก็จะเกิดปัญหาในเรื่องการตีความ ปัญหาที่ยากจะตกลงกันได้อย่างหนึ่งก็คือ ปัญหาเรื่องสิทธิมนุษยชน และเรื่องปัญหาการกำหนดการปกครองด้วยตนเอง ในกรณีที่สหรัฐอเมริกาให้การยอมรับเขตอำนาจโดยการบังคับของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศนั้น ปัญหาทางปฏิบัติที่ว่าใครจะเป็นผู้ตัดสินว่าอะไรคือเขตอำนาจภายในของรัฐนั้น ได้ถูกกำหนดไว้โดยคอนแนลลี อะเมนด์เม้นท์ ว่าให้รัฐชาติภายในเองเป็นฝ่ายตัดสินในเรื่องนี้

Jurisdiction :Extradition

เขตอำนาจ : การส่งผู้ร้ายข้ามแดน

วิธีดำเนินการให้มีการส่งมอบผู้หลบหนีคดีอาญาข้ามรัฐที่พบตัวในรัฐหนึ่งให้แก่รัฐที่การละเมิดกฎหมายบังเกิดขึ้น การส่งผู้ร้ายข้ามแดนจะเริ่มต้นด้วยการเรียกร้องอย่างเป็นทางการจากรัฐหนึ่งไปสู่อีกรัฐหนึ่ง และจะเป็นไปตามพันธกรณีตามที่ได้กำหนดไว้เป็นการเฉพาะในสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างรัฐ

ความสำคัญ การที่เจ้าหน้าที่ของรัฐหนึ่งจะเข้าไปจับกุมผู้หลบหนีคดีอาญาข้ามรัฐไปอยู่ในเขตอำนาจของอีกรัฐหนึ่งโดยไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐหลังนั้น ถือว่าเป็นการละเมิดเอกราชและอธิปไตยอย่างร้ายแรง อย่างไรก็ตามเนื่องจากมีผลประโยชน์ร่วมกันในการใช้ความยุติธรรมและในการรักษาความสงบสงบเรียบร้อยนี้ ก็จึงทำให้รัฐต่าง ๆ ให้ความร่วมมือในการส่งมอบผู้หลบหนีคดีอาญาข้ามรัฐระหว่างกัน ความร่วมมือดังกล่าวจะอิงอาศัยรากฐานของข้อตกลงที่ร่างอย่างพิถีพิถัน โดยจะมีการกำหนดเงื่อนไขและรายการความผิดต่าง ๆ ที่จะให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน แต่โดยปกติแล้วอาชญากรรมทางการเมืองจะไม่ได้รับการพิจารณาว่าเป็นความผิดที่จะให้มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน และรัฐต่าง ๆ ก็จะไม่ยอมส่งมอบพลเมืองของตนให้ไปรับการพิจารณาคดีในรัฐอื่น การส่งผู้ร้ายข้ามแดนส่วนใหญ่จะดำเนินการให้เป็นไปตามสนธิสัญญาระดับทวิภาคี ซึ่งจะก่อให้เกิดเครือข่ายของกฎหมายที่ยุ่งเหยิงสลับซับซ้อนที่ทำให้ง่ายได้ยาก จนกว่ารัฐจะตกลงยึดกฎเกณฑ์ในรูปแบบเดียวกันได้แล้วเท่านั้น

Jurisdiction : Extratersitoialtiy

เขตอำนาจ : สภาพนอกอาณาเขต

การที่รัฐหนึ่งใช้เขตอำนาจของตนในดินแดนของอีกรัฐหนึ่ง สภาพนอกอาณาเขตจะถูกกำหนดโดยสนธิสัญญา ซึ่งจะมีการระบุถึงบุคคล สาระ และระดับที่เขตอำนาจในท้องถิ่นไม่สามารถนำมาใช้กับพลเมืองของคู่สนธิสัญญาได้ สภาพนอกอาณาเขตเคยมีตัวอย่างมาตั้งแต่ในสมัยก่อนที่จะมีระบบรัฐในปัจจุบันนี้แล้ว การให้สิทธิพิเศษในแบบที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า “แคปปิตุเลชั่น” เป็นสภาพนอกอาณาเขตรูปแบบหนึ่ง ที่กำหนดให้สิทธิพิเศษบางอย่างแก่ชาวคริสต์ในประเทศที่อยู่ภายใต้การปกครองของชาวมุสลิม


ความสำคัญ สภาพนอกอาณาเขตนี้ ข้างรัฐที่มีอำนาจมากมักจะนำไปใช้กับรัฐที่อ่อนแอในระหว่างยุคจักรวรรดินิยมและยุคล่าอาณานิคมตะวันตก วัตถุประสงค์ของสภาพนอกอาณาเขต
ก็คือ เพื่อปกป้องพลเมืองของรัฐที่มีอำนาจมากในที่ซึ่งวัฒนธรรมและระบบกฎหมายของทั้งสองรัฐมีความแตกต่างกันมาก ๆ เช่น ระหว่างหมู่ประเทศตะวันตกกับหมู่ประเทศในตะวันออกใกล้และตะวันออกไกล มีบ่อยครั้งที่สภาพนอกอาณาเขตนี้มีความหมายว่า ชาวต่างชาติที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดทางอาญาถูกพิจารณาดคีภายใต้กฎหมายและคณะลูกขุนของชาติตนยิ่งกว่าจะให้พิจารณาคดีโดยใช้กฎหมายของสถานที่นั้น สนธิสัญญาสภาพนอกอาณาเขต ซึ่งโดยปกติจะไม่ใช่สนธิสัญญาต่างตอบแทน ถูกต่อต้านอย่างรุนแรงว่ามีลักษณะไปจำกัดอำนาจอธิปไตยที่ไม่เท่าเทียมกันจนเดี๋ยวได้สูญหายไปหมดแล้ว อย่างไรก็ตามสภาพนอกอาณาเขตในความหมายพิเศษยังคงมีอยู่ในกรณีของนักการทูต คือ พวกนักการทูตจะปลอดพ้นจากกระบวนการทางกฎหมายในประเทศเจ้าบ้านที่ตนไปประจำอยู่นั้น และในกรณีที่เกี่ยวข้องกับสนธิสัญญาว่าด้วย “สถานภาพของกองกำลัง” ที่ให้สิทธิและหน้าที่แก่กองทัพของประเทศหนึ่งที่เข้าไปตั้งอยู่ในดินแดนของอีกประเทศหนึ่ง

Jurisdiction :High Seas

เขตอำนาจ : ทะเลหลวง

มหาสมุทร ทะเล ทะเลสาขา อ่าวเล็ก อ่าวใหญ่ ทั้งหลายทั้งปวงที่มีอยู่ทั่วโลก ซึ่งอยู่ภายนอกน่านน้ำอาณาเขตของรัฐชายฝั่ง ทะเลหลวงเปิดให้แก่ทุกประเทศได้ใช้ประโยชน์ทางด้านการพาณิชย์และการเดินเรือ รัฐอาจจะขยายเขตอำนาจไปยังเรือที่ชักธงของตนในทะเลหลวงได้ แต่จะขยายเขตอำนาจไปยังทะเลหลวงโดยตรงไม่ได้

ความสำคัญ ภายใต้อนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยทะเลหลวงปี ค.ศ. 1958 ได้กำหนดไว้ว่า “ไม่มีรัฐใดอาจอ้างสิทธิที่จะทำให้ส่วนหนึ่งส่วนใดของทะเลหลวงตกอยู่ในอธิปไตยของตนได้” ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศนั้น ทุกรัฐมีสิทธิเท่าเทียมกันที่จะเข้าไปใช้ทะเลหลวงทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น (1) ในการประมง (2) ในการวางสายและท่อใต้น้ำ และ (3) ในการใช้เครื่องบินบินเหนือ อย่างไรก็ตามในการใช้เสรีภาพในทะเลหลวงของรัฐต่าง ๆ มีเงื่อนไขทั่วไปกำหนดไว้ว่ารัฐจะต้องใช้โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของรัฐอื่นที่ใช้เสรีภาพแห่งทะเลหลวงนั้นด้วย

Jurisdiction : Hot Pursuit

เขตอำนาจ : การไล่ตามติดพัน

หลักกฎหมายระหว่างประเทศ ที่ยินยอมให้ไล่ติดตามเรือหรือเครื่องบินที่สงสัยว่าฝ่าฝืนกฎหมายภายในในเขตอำนาจเหนือดินแดนภายในของรัฐ เข้าไปในทะเลหลวงหรือเหนือทะเลหลวงได้ กฎหมายระหว่างประเทศบัญญัติไว้ว่า การไล่ติดพันจะต้อง (1) เริ่มในเขตอำนาจของรัฐผู้เสียหาย (2) ดำเนินการไล่ติดตามโดยเรือรบหรือเครื่องบินรบขององค์อธิปัตย์เหนือดินแดนนั้น (3) ดำเนินไปจนกระทั่งสามารถจับกุมเรือที่ถูกไล่ตามนั้นได้ หรือ (4) สิ้นสุดลงเมื่อเรือซึ่งถูกไล่ติดตามนั้นเข้าสู่น่านน้ำอาณาเขตของรัฐอื่น

ความสำคัญ แนวความคิดเรื่องการไล่ตามติดพันนี้ บ่งบอกให้เราได้เห็นว่า เรือที่ละเมิดกฎหมายภายในของรัฐแล้วไม่สามารถรอดพ้นจากผลการกระทำของตนเพียงแต่หนีออกจากพื้นที่ที่กระทำผิดเข้าไปในทะเลหลวง ซึ่งโดยกฎหมายระหว่างประเทศกำหนดไว้ว่าไม่ได้เป็นของรัฐใด แต่หากการสงสัยของรัฐผู้จับกุมสามารถพิสูจน์ได้ว่าไม่มีมูล รัฐผู้จับกุมนั้นก็จะต้องชดใช้ค่าเสียหาย หลักการนี้ในกฎหมายระหว่างประเทศเห็นว่ามีความจำเป็นจะต้องมีไว้เพื่อจะได้สามารถใช้เขตอำนาจเหนือดินแดนได้อย่างมีประสิทธิผล

Jurisdiction : Innocent Passage

เขตอำนาจ : การผ่านโดยสุจริต

สิทธิของเรือต่างชาติที่จะสัญจรผ่านน่านน้ำอาณาเขตของรัฐอื่นโดยปราศจากการแทรกแซงขององค์อธิปัตย์ชายฝั่ง การผ่านโดยบริสุทธิ์นี้ให้หมายรวมไปถึงการหยุดและการทอดสมอแต่เฉพาะเท่าที่การหยุดและการทอดสมอนั้นอาจเกิดมีขึ้นในการเดินเรือปกติ หรือกระทำโดยความจำเป็นอันเนื่องมาจากเหตุสุดวิสัย หรือ ทุกขภัย

ความสำคัญ การผ่านจะเป็นไปโดยบริสุทธิ์โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องไม่เป็นอันตรายต่อสันติภาพ ความสงบเรียบร้อย หรือความมั่นคงของรัฐชายฝั่ง ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศมีข้อกำหนดว่า เรือที่ผ่านโดยบริสุทธิ์นั้นจะต้องอยู่ในบังคับของหลักเกณฑ์ปกติของการขนส่งและการเดินเรือ กับหลักเกณฑ์ขององค์อธิปัตย์ชายฝั่ง ในทางกลับกันนั้นเรือของทุกรัฐย่อมได้รับผลประโยชน์จากการใช้เส้นทางที่สะดวกที่สุด ภายใต้เงื่อนไขเดียวกันนี้ อนุสัญญาเจนีวาว่าด้วยทะเลอาณาเขตและเขตต่อเนื่องปี ค.ศ. 1959 ได้ให้การรับรองสิทธิ์การผ่านโดยบริสุทธิ์ของเรือรบ แต่สหภาพโซเวียตและพันธมิตรในยุโรปตะวันออกหลายประเทศ มีข้อสงวนสิทธิ์ว่า เรือรบต่างชาติต้องได้รับการมอบอำนาจเสียก่อนจึงจะยอมอนุญาตให้ผ่านไปได้

Jurisdiction : Outer Space

เขตอำนาจ : อวกาศ

เขตอำนาจระหว่างประเทศเหนือพื้นที่นอกน่านฟ้า แม้ว่าจะไม่มีรัฐใดใช้เขตอำนาจเหนืออวกาศ แต่เรื่องอวกาศนี้ก็เป็นเรื่องที่ประชาคมระหว่างประเทศได้ให้ความสนใจมากยิ่งขึ้นเรื่องหนึ่ง นับตั้งแต่ดาวเทียมจากโลกดวงแรกได้ถูกส่งไปโคจรรอบโลกเมื่อปี ค.ศ. 1957 ในปี ค.ศ. 1959 สหประชาชาติได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการถาวรว่าด้วยการใช้อวกาศโดยสันติขึ้นมา ในปี ค.ศ. 1961 สมัชชาใหญ่ได้ประกาศโดยเอกฉันท์ว่า “กฎหมายระหว่างประเทศรวมถึงกฎบัตรสหประชาชาติให้ใช้กับอวกาศและเทหวัตถุบนฟากฟ้าต่าง ๆ ด้วย” และว่า “อวกาศและเทหวัตถุบนท้องฟ้าเปิดกว้างเพื่อการสำรวจและการใช้ให้แก่ทุกรัฐโดยสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ และจะต้องไม่ตกอยู่ในการถือครองของชาติใด ๆ “ ในปี ค.ศ. 1963 หลักการเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากปฏิญญาแห่งหลักการทางกฎหมายที่ใช้ควบคุมกิจกรรมในอวกาศ ซึ่งกำหนดไว้ดังนี้ : (1) การสำรวจและการใช้อวกาศจะต้องเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของมนุษยชาติทั้งปวง (2) รัฐที่ดำเนินกิจกรรมดังกล่าวจะต้องมีภาระรับผิดชอบระหว่างประเทศต่อการกระทำดังกล่าวของตน (3) กิจกรรมในอวกาศทั้งปวงจะต้องดำเนินไปตามหลักของความร่วมมือและการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน (4) รัฐที่ส่งวัตถุหรือบุคคลขึ้นไปในอวกาศย่อมมีเขตอำนาจเหนือวัตถุหรือบุคคลนั้นขณะอยู่ในอวกาศ และขณะเมื่อกลับคืนมาสู่โลกไม่ว่าจะตกลงมาอยู่ที่จุดใด (5) รัฐมีภาระจะต้องชดใช้สำหรับความสูญเสียใด ๆ อันจะเกิดบนโลก ในน่านฟ้าหรือในอวกาศ อันมีสาเหตุมาจากวัตถุที่ตนส่งขึ้นไปในอวกาศนั้น และ (6) นักบินอวกาศให้ถือว่าเป็นทูตของมวลมนุษย์ในอวกาศ และในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุรัฐทั้งปวงก็จะต้องให้ความช่วยเหลือแก่พวกเขาและให้รีบส่งตัวพวกเขาคืนให้แก่รัฐที่เป็นเจ้าของยานอวกาศ หลักการเหล่านี้มีอยู่ในสนธิสัญญาว่าด้วยอวกาศซึ่งได้รับการยอมรับโดยสมัชชาใหญ่เมื่อปี ค.ศ. 1966 และมีผลบังคับใช้สำหรับรัฐที่ให้สัตยาบันเมื่อปี ค.ศ. 1967

ความสำคัญ อวกาศและน่านฟ้าได้รับการรับรองในกฎหมายระหว่างประเทศว่าเป็นเขตสองเขตที่มีความแตกต่างกัน แต่ก็ยังไม่มีการแบ่งเขตให้เป็นที่แน่ชัด ผู้รู้บางท่านได้ให้คำนิยาม “น่านฟ้า” ว่า พื้นที่สำหรับใช้บินของอากาศยาน ดังนั้นอวกาศก็คือพื้นที่ที่พ้นจากอำนาจอธิปไตยของรัฐชาติ ส่วนน่านฟ้าอยู่ภายในเขตอำนาจขององค์อธิปัตย์เหนือดินแดนที่อยู่เบื้องล่างนั้น หลักการเหล่านี้ที่มีอยู่ในปฏิญญาต่าง ๆ ของสหประชาชาติเป็นแต่เพียงข้อเสนอแนะ จวบจนกระทั่งสนธิสัญญาว่าด้วยอวกาศได้รับการให้สัตยาบันเมื่อปี ค.ศ. 1967 ถึงแม้ว่าสนธิสัญญาฉบับนี้จะพยายามทำให้อวกาศเป็นเรื่องระหว่างประเทศและพยายามทำให้เกิดความมั่นใจว่าการสำรวจและการใช้อวกาศจะเป็นไปโดยสันติ แต่จากข้อพิจารณาทางด้านการทหารของสหรัฐอเมริกาและอดีตสหภาพโซเวียตได้มาทำลายวัตถุประสงค์ของสนธิสัญญาไปเสียสิ้น หากอำนาจระหว่างประเทศสามารถควบคุมการใช้อวกาศได้อย่างมีประสิทธิผลก็จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในโลกนี้ได้

Jurisdiction : Partition

เขตอำนาจ : การแบ่งดินแดน

วิธีการกำหนดหรือจัดแบ่งเขตอำนาจเหนือดินแดน โดยการแบ่งดินแดนระหว่าง 2 อธิปไตยหรือมากกว่า การแบ่งดินแดนเป็นวิธีการที่มักนำมาใช้เพื่อแก้ปัญหาข้อพิพาทเกี่ยวกับการอ้างอธิปไตยเหนือดินแดน

ความสำคัญ การแบ่งดินแดนเป็นเรื่องเก่าที่มีมาพร้อมกับประวัติศาสตร์ของรัฐชาติ ในประวัติศาสตร์แสดงให้เห็นว่า รัสเซีย ปรัสเซีย และออสเตรียให้ความสนใจอย่างต่อเนื่องที่จะแบ่งดินแดนของโปแลนด์จนกระทั่งประเทศโปแลนด์สูญสิ้นความเป็นรัฐเพิ่งจะได้กลับมามีสภาพเป็นรัฐอีกครั้งหนึ่งหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง การแบ่งดินแดนอาจจะมีการเรียกร้องอยู่ในข้อตกลงสันติภาพ และจะมีหรือไม่มีการออกเสียงประชามติหรือการลงคะแนนเสียงของประชาชนด้วยก็ได้ หลังสงครามโลกครั้งที่สอง อินเดียของอังกฤษได้ถูกแบ่งเป็นสองส่วนระหว่างประชาคมชาวฮินดูกับประชาคมชาวมุสลิมกลายเป็นรัฐอินเดียกับรัฐปากีสถาน ภายหลังสงครามโลกครั้งที่สองฝ่ายพันธมิตรผู้ชนะสงครามเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน ทำให้มีการแบ่งแยกเยอรมนีออกเป็นสหพันธรัฐเยอรมนี (เยอรมนีตะวันตก) กับสาธารณรัฐประชาธิปไตยเยอรมัน (เยอรมนีตะวันออก) ในทำนองเดียวกัน เกาหลีก็ได้ถูกแบ่งให้เป็นสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) กับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี (เกาหลีเหนือ)

Jurisdiction : Prescription

เขตอำนาจ:สิทธิในที่ดินซึ่งได้โดยการครอบครองมาเป็นเวลานาน

วิธีที่ได้รับการรับรองในกฎหมายระหว่างประเทศว่า รัฐใดรัฐหนึ่งสามารถได้กรรมสิทธิ์ในดินแดนที่แต่เดิมรัฐอื่นอ้างกรรมสิทธิ์อยู่ก่อนได้โดยการครอบครองติดต่อกันเป็นเวลานาน และการที่องค์อธิปัตย์เดิมนิ่งเฉยเสียนานโดยที่ไม่ยอมคัดค้านต่อการใช้เขตอำนาจของรัฐอื่น ก็เป็นมูลเหตุให้เกิดการถ่ายโอนกรรมสิทธิ์ของดินแดนนั้นได้

ความสำคัญ สิทธิในดินแดนซึ่งได้มาโดยการครอบครองเป็นเวลานานนี้ จะสร้างกรรมสิทธิ์ให้แก่รัฐใดรัฐหนึ่งได้ก็ต่อเมื่ออธิปไตยเหนือดินแดนนั้นได้เคยอยู่กับรัฐอื่นมาก่อน หากไม่มีองค์อธิปัตย์เคยอยู่ในดินแดนนั้นมาก่อน กรรมสิทธิ์ในดินแดนนั้นจะได้มาโดย “การค้นพบ” จากแนวความคิดในเรื่องสิทธิในดินแดนซึ่งได้มาโดยการครอบครองมาเป็นเวลานานนี้ แสดงให้เห็นว่า เพียงมีกรรมสิทธิ์อย่างเดียวไม่เป็นการเพียงพอที่จะคงดินแดนนั้นไว้กับตนได้ จะต้องมีการกระทำควบคู่ไปกับการใช้เขตอำนาจเหนือดินแดนนั้นอย่างมีประสิทธิผล กฎหมายระหว่างประเทศมิได้ระบุห้วงเวลาไว้เป็นการแน่นอนว่าเมื่อใดกรรมสิทธิ์ในดินแดนจะถ่ายโอนไปเป็นของรัฐที่มาใช้ประโยชน์ในดินแดนนั้นอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย เมื่อการอ้างกรรมสิทธิ์ในดินแดนโดยการครอบครองเป็นเวลานานถูกนำไปให้ศาลหรืออนุญาโตตุลาการตัดสิน แต่ละคดีก็จะถูกตัดสินโดยเที่ยงธรรมโดยอิงหลักเกณฑ์ของกฎหมายระหว่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น การอนุญาโตตุลาการเกาะพาลมัส (ค.ศ. 1928) ระหว่างสหรัฐอเมริกากับเนเธอร์แลนด์ ได้ตัดสินให้การรับรองกรรมสิทธ์ในดินแดนแห่งนั้นของเนเธอร์แลนด์โดยอิงหลักการใช้เขตอำนาจอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายมานาน

Jurisdiction : Territorial Waters

เขตอำนาจ : น่านน้ำอาณาเขต

แนวน้ำที่อยู่ประชิดกับชายฝั่งของรัฐ ซึ่งรัฐนั้นใช้อำนาจอธิปไตยเหนือ น่านน้ำอาณาเขตกว้าง 3 ไมล์เป็นพิกัดขั้นต่ำสุดที่ได้รับการรับรองโดยรัฐต่าง ๆ ทั่วโลกแต่ยังไม่มีการยอมรับโดยทั่วไปในพิกัดสูงสุด มีรัฐจำนวนหนึ่งอ้างเขตอำนาจเหนือน่านน้ำอาณาเขตกว้าง 12 ไมล์ และมีบางรัฐอีกเหมือนกันอ้างเขตอำนาจเหนือน่านน้ำอาณาเขตกว้าง 200 ไมล์ สนธิสัญญาว่าด้วยกฎหมายทะเลปี ค.ศ. 1982 ได้กำหนดให้รัฐชายฝั่งมีเขตอำนาจเหนือน่านน้ำอาณาเขต 12 ไมล์ แต่ก็ยังมีหลายรัฐไม่ยอมให้สัตยาบันสนธิสัญญาฉบับนี้

ความสำคัญ เขตน่านน้ำอาณาเขตควรจะเป็นเท่าใดมักเป็นเรื่องที่ถกเถียงกันในประชาคมระหว่างประเทศ เขตน่านน้ำในพิกัดขั้นต่ำสุด 3 ไมล์ได้รับการยอมรับในช่วงคริสตศตวรรษที่ 18 ว่าเป็นพิกัดที่อำนาจการยิงของปืนใหญ่ที่ยิงจากชายฝั่งสามารถไปได้ถึง ที่อ้างสิทธิเหนือน่านน้ำอาณาเขตมีพิกัดกว้างไกลไปกว่านี้นั้นก็มักจะเกี่ยวข้องกับเรื่องทางการเมืองหรือทางยุทธศาสตร์ หรือเพราะว่าเป็นแหล่งทรัพยากรบางอย่าง เช่น แหล่งประมงหรือแหล่งน้ำมัน เป็นต้น ที่รัฐชายฝั่งต้องการจะมีเขตอำนาจทางดินแดนเหนือแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้นเอง ถึงแม้ว่าการประชุมที่เจนีวาว่าด้วยกฎหมายทะเล (ปี ค.ศ. 1958 และ ปี ค.ศ. 1960) จะก่อให้เกิดอนุสัญญาต่าง ๆ ที่ว่าด้วยทะเลหลวง ว่าด้วยไหล่ทวีป ว่าด้วยการอนุรักษ์แหล่งประมง และว่าด้วยน่านน้ำอาณาเขต (หลักเกณฑ์ว่าด้วยการใช้) แต่การประชุมดังกล่าวก็ไม่สามารถสร้างมติด้วยคะแนนเสียงสองในสามที่จำเป็นสำหรับการที่จะกำหนดพิกัดของน่านน้ำอาณาเขตให้เป็นแบบเดียวกันได้

Jurisdiction : Thalweg

เขตอำนาจ : ร่องน้ำลึก

หลักเกณฑ์ของกฎหมายระหว่างประเทศที่กำหนดถึงจุดที่ตั้งของเส้นพรมแดนระหว่างสองรัฐที่แยกออกจากกันโดยมีแม่น้ำที่สามารถเดินเรือได้คั่นอยู่กลาง ร่องน้ำลึกที่ภาษาอังกฤษใช้ว่า ทัลเว็ก หรือ ดาวน์เวย์ ก็คือ จุดกึ่งกลางของร่องน้ำใหญ่ (หรือ เมนแชนเนล หรือ ดาวสตรีมเคอร์เร้นท์)

ความสำคัญ แม่น้ำอาจเปลี่ยนทางเดินได้เพราะผลมาจากสาเหตุทางธรรมชาติ หากไม่สามารถตกลงในเรื่องเส้นพรมแดนนี้ให้เป็นที่แน่ชัดได้แล้ว ก็อาจจะเกิดปัญหาเกี่ยวกับเรื่องต่อไปนี้ คือ ปัญหาพิกัดอัตราภาษีศุลกากร ปัญหาเงินค่าผ่านทาง ปัญหาเขตอำนาจเหนือเรือ และปัญหาผู้หลบหนีคดีอาญาข้ามรัฐ หลักเกณฑ์เกี่ยวกับร่องน้ำลึกนี้สามารถนำไปใช้กับปากแม่น้ำและอ่าวได้ด้วย

Jus Civile

จัส ซีวิล

กฎหมายแพ่งของนครรัฐโรมันสมัยโบราณ ที่นำไปใช้กับพลเมืองของตนเท่านั้น จัส ซีวิล มีลักษณะตรงข้างกับ จัส เจนติอุม ที่ใช้กับคนต่าง ๆ ของจักรวรรดิโรมัน

ความสำคัญ จัส ซีวิล ได้กลายมาเป็นรากฐานอย่างหนึ่งสำหรับการพัฒนาระบบกฎหมายต่าง ๆ ในเวลาต่อมา จัส ซีวิล และ จัส เจนติอุม ของระบบกฎมายโรมัน เป็นบรรทัดฐานและเป็นหลักการเก่าที่ต่อมาได้นำมาใช้ในการพัฒนากฎหมายระหว่างประเทศ (คือ กฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยคดีบุคคล กับกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยคดีเมือง)

Jus Gentiun

จัส เจนติอุม

ระบบกฎหมายและความเที่ยงธรรม ที่นำไปใช้กับชาวต่างชาติที่มีถิ่นพำนักอยู่ในจักรวรรดิโรมัน จัส เจนติอุม จะควบคุมความสัมพันธ์ระหว่างชาวต่างชาติกับชาวต่างชาติด้วยกัน และระหว่างชาวต่างชาติกับพลเมืองของโรมัน มีรากฐานอยู่บนแนวความคิดร่วมกันเกี่ยวกับความยุติธรมที่มีอยู่ในหลักเกณฑ์และจารีตประเพณีของผู้คนหลากหลายที่มีถิ่นพำนักอยู่ในจักรวรรดิโรมัน ด้วยเหตุที่จัส เจนติอุมนี้คนเห็นว่าเป็นระบบกฎหมายที่ง่ายมีเหตุมีผลและสามารถนำไปดัดแปลงใช้ได้ นักกฎหมายสมัยก่อนจึงถือว่าจัส เจนติอุมสามารถนำไปใช้ในระดับสากลได้

ความสำคัญ จัส เจนติอุม ของโรมันสามารถมองได้ว่าเป็นระบบของกฎหมายระหว่างประเทศแผนกคดีเมืองที่มีความเชื่อมโยงกับ จัส เนเจอราล และแนวความคิดของกรีกว่าด้วยกฎธรรมชาติและกฎสากล จัส เจนติอุม ซึ่งอิงอาศัยความเชื่อมโยงสัมพันธ์ต่าง ๆ เหล่านี้ เป็นแบบอย่างให้แก่กฎหมายระหว่างประเทศสมัยใหม่ในเรื่องต่างๆ เช่น การยึดครองดินแดน สิทธิในทรัพย์สิน สัญญา และสนธิสัญญา เป็นต้น

Jus Naturale

จัส เนเจอราล

แนวความคิดของพวกสโตอิกกรีก ว่าด้วยหลักการที่ควรนำมาใช้ควบคุมความประพฤติของมนุษย์ทั้งปวงที่พวกโรมันได้นำมาปรับใช้ จัส เนเจอราล หรือ กฎธรรมชาติ ได้ถูกนำมาใช้เพื่ออธิบายธรรมชาติของมนุษย์ว่าเป็นสัตว์ที่มีเหตุผลและชอบเข้ารวมกลุ่มเป็นสังคม หลักเกณฑ์ของเหตุผลอยู่บนรากฐานของสิ่งที่ควรจะเป็น เมื่อผสมผสานกับหลักสากลนิยมของ จัส เจนติอุมแล้ว ทำให้กฎหมายของโรมันมีลักษณะสามารถปรับใช้และมีความก้าวหน้าไม่หยุดอยู่กับที่ ช่วยให้ผู้คนหลากหลายเชื้อชาติอยู่ร่วมกันโดยสงบสุขได้แม้ว่าเงื่อนไขจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมก็ตาม

ความสำคัญ แนวความคิดของ จัส เนเจอราล ที่อิงอาศัยเหตุผลและอยู่เหนือพลเมืองและรัฐนี้ ได้มีอิทธิพลต่อครอติอุส และนักกฎหมายระหว่างประเทศยุคต้น ๆ ที่พยายามจะจัดตั้งระบบความสัมพันธ์ที่เรียบร้อยระหว่างรัฐ หลักการของกฎธรรมชาติที่ยังมีหลักฐานปรากฎให้เห็นในกฎหมายระหว่างประเทศ ก็คือ แนวความคิดเรื่องศีลธรรมระหว่างประเทศ เรื่องความเสมอภาค เรื่องความยุติธรรมและเรื่องเหตุผล กฎหมายระหว่างประเทศที่ยึดแนวความคิดของสำนักกฎหมายธรรมชาตินี้ ต่อมาได้ถูกแทนที่ในคริสตศตวรรษที่ 18 และคริสตศตวรรษที่ 19 โดยผู้สนับสนุนลัทธิปฏิฐานนิยมทางกฎหมาย ซึ่งถือว่าจารีตประเพณี การตรากฎหมายและสนธิสัญญาเท่านั้นจึงจะสร้างสิทธิและหน้าที่ให้แก่รัฐที่มีอธิปไตยได้

Legal Settlement : Adjudication

การระงับข้อพิพาทโดยทางกฎหมาย : การพิจารณาของศาล

เทคนิควิธีทางกฎหมายเพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศ โดยนำไปให้ศาลที่ได้จัดตั้งไว้แล้วทำการพิจารณาตัดสิน การพิจารณาของศาลนี้มีข้อแตกต่างจากการอนุญาโตตุลาการ กล่าวคือ การพิจารณาของศาลจะมีกระบวนการที่เป็นแบบเป็นแผนดำเนินการโดยศาลถาวร ส่วนการอนุญาโตตุลาการนั้นเป็นวิธีปฏิบัติเฉพาะกิจ ศาลระหว่างประเทศที่มีอำนาจทั่วไปแห่งแรก ก็คือ ศาลยุติธรรมถาวรระหว่างประเทศ (พีซีไอเจ) ซึ่งทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบสันนิบาตชาตินับตั้งแต่ ค.ศ. 1920 จวบจนกระทั่งสันนิบาตชาติเลิกล้มเมื่อปี ค.ศ 1946 ศาลยุติธรรมถาวรระหว่างประเทศได้รับการสานต่องานโดยศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) ในปัจจุบัน ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรหลักของสหประชาชาติ

ความสำคัญ การพิจารณาของศาลได้ถูกนำมาใช้ไม่มากนักเพื่อระงับข้อพิพาท และจะมีประสิทธิผลมากเมื่อใช้ระงับข้อพิพาทที่มีความสำคัญไม่มาก ผู้ที่ให้การสนับสนุนวิธีการพิจารณาของศาลนี้ ได้กล่าวถึงข้อดีของวิธีนี้ว่าศาลสามารถให้คำตอบแก่ปัญหาระหว่างประเทศได้ทุกปัญหา และหากใช้วิธีการนี้จะสามารถระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศได้ทั้งหมด อย่างไรก็ตามรัฐต่าง ๆ ก็ยังลังเลใจที่จะใช้วิธีการพิจารณาของศาลนี้ เพราะการนำคดีไปให้ศาลระหว่างประเทศพิจารณานั้น ตนจะต้องตกลงเป็นการล่วงหน้าว่าจะผูกพันกับข้อคำตัดสินใด ๆ ของศาล ซึ่งอาจจะมีอันตรายต่อผลประโยชน์อันสำคัญยิ่งของตนได้ ด้วยเหตุที่หลักการแห่งอำนาจอธิปไตยมีความหมายว่ารัฐไม่สามารถจะถูกบังคับให้ไปขึ้นศาลโดยฝืนเจตนารมณ์ของรัฐได้ ดังนั้นรัฐที่ตกเป็นจำเลยมักจะไม่อยากนำคดีไปให้ศาลพิจารณา อย่างไรก็ตามวิธีการพิจารณาของศาลนี้มีข้อดี คือ ทำให้ไม่เกิดปัญหาเสื่อมเสียเกียรติภูมิของชาติ ทั้งนี้เพราะรัฐที่ยอมรับคำตัดสินของศาลนั้นถือว่าให้การสนับสนุนหลักการบังคับแห่งกฎหมายยิ่งกว่าจะเป็นการสยบจากแรงกดดันของรัฐอื่น การพิจารณาของศาลอันเป็นเครื่องมือระงับข้อพิพาทอย่างหนึ่งนี้อ่อนกำลังลงในยุคปัจจุบันเนื่องจาก (1) การพัฒนาเชิงปฏิวัติในเทคโนโลยี (2) ความขัดแย้งระหว่างตะวันออกกับตะวันตก (3) การเกิดขึ้นของรัฐและระบอบการปกครองใหม่ ๆ ที่ปฏิเสธแนวความคิดเกี่ยวกับกฎหมายระหว่างประเทศของฝ่ายตะวันตกที่มีมาแต่เดิมหลายอย่าง

Legal Settlement : Advisony Opinion

การระงับข้อพิพาทโดยทางกฎหมาย : ความเห็นของศาล

ความเห็นทางกฎหมายที่ศาลตอบคำถามซึ่งถามมาจากองค์กรที่มีอำนาจแห่งใดแห่งหนึ่ง วิธีดำเนินการแบบให้ความเห็นของศาลนี้จะแตกต่างจากกระบวนพิจารณาข้อพิพาทสองฝ่าย คือ จะไม่มีคู่กรณีมาปรากฎตัวในศาลในฐานะโจทก์และจำเลย

ความสำคัญ ความเห็นของศาล เป็นการให้ข้อมูลและให้ความกระจ่างทางกฎหมายแต่จะไม่มีผลผูกพันต่อฝ่ายที่ขอความเห็นมานั้น เว้นเสียแต่ว่าฝ่ายที่ขอความเห็นให้ความเห็นชอบในความเห็นของศาล กฎบัตรสหประชาชาติ (ข้อ 96) ได้ใช้อำนาจแก่สมัชชาใหญ่หรือคณะมนตรีความมั่นคงได้ขอความเห็นของศาลจากศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) เกี่ยวกับปัญหาทางกฎหมายได้ นอกจากนั้นแล้ว สมัชชาใหญ่ก็ยังได้ให้อำนาจแก่องค์กรและทบวงการชำนัญพิเศษอื่น ๆ ได้ขอความเห็นของศาลเกี่ยวกับปัญหาทางกฎหมายที่เกิดขึ้นภายในของเขตการทำกิจกรรมของตน ๆ ได้ ภายใต้ข้อตกลงเฮดควอเตอร์ปี ค.ศ. 1947 แนวปฎิบัติความเห็นของศาลนี้อาจนำไปใช้กับกรณีข้อพิพาทที่เกิดขึ้นระหว่างสหรัฐอเมริกากับสหประชาชาติได้ แม้ว่าเทคนิควิธีความเห็นของศาลนี้จะพร้อมที่จะให้มาใช้ได้ แต่ก็มีการนำไปใช้เพียงประปรายนับแต่ปี ค.ศ. 1946 เป็นต้นมา

Legal Settlement : Arbitration

การระบังข้อพิพาทโดยทางกฎหมาย : การอนุญาโตตุลาการ

วิธีดำเนินการระงับข้อพิพาทโดยสันติวิธีแบบโบราณ การอนุญาโตตุลาการมีลักษณะสำคัญหลายอย่างดังนี้ (1) มีคอมโพรมิส หรือมีข้อตกลงของคู่กรณีเกี่ยวกับกรณีที่จะระงับตลอดจนรายละเอียดของวิธีดำเนินการที่จะนำมาใช้ (2) คณะลูกขุนจะถูกเลือกโดยคู่กรณี (3) การตัดสินจะอิงกฎหมายระหว่างประเทศ และ (4) มีการตกลงกันก่อนว่าการตัดสินของศาลจะมีผลผูกพัน

ความสำคัญ การอนุญาโตตุลาการมีลักษณะเหมือนกับการตัดสินของศาล คือ เป็นเทคนิควิธีทางกฎหมายเพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศ เป็นวิธีที่แตกต่างจากวิธีการทางการเมืองซึ่งจะเกี่ยวข้องกับการเจรจาทางการทูตต่าง ๆ เช่น การช่วยเป็นสื่อกลาง การไกล่เกลี่ย การสืบสวน และการประนอม การอนุญาโตตุลาการอาจจะเป็นการตกลงกันเฉพาะกิจ หรืออาจจะเป็นการบังคับหากมีสนธิสัญญาระหว่างคู่กรณีว่าจะต้องใช้วิธีนี้ ประวัติศาสตร์ได้ทำการบันทึกอนุสัญญาอนุญาโตตุลาการแบบทวิภาคีหลายฉบับเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ หลากหลาย การประชุมกรุงเฮกปี ค.ศ. 1899 ได้วางรูปแบบวิธีปฏิบัติโดยจัดตั้งศาลอนุญาโตตุลาการถาวรที่กรุงเฮก นอกจากนั้นการอนุญาโตตุลาการนี้ยังถูกระบุไว้ในรายการว่าเป็นวิธีการที่เหมาะสมสำหรับระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศ โดยกติกาสันนิบาตชาติ (ข้อ 13) และโดยกฎบัตรสหประชาชาติ (ข้อ 33) เมื่อปี ค.ศ. 1970 สหรัฐอเมริกาได้ภาคยานุวัติอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการรับรองและการบังคับใช้คำวินิจฉัยของการตุลาการต่างประเทศ

Legal Settlement : Award

การระงับข้อพิพาทโดยทางกฎหมาย:คำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ


คำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการ หรือของศาล หรือของคณะกรรมาธิการเรียกร้องระหว่างประเทศ ให้จ่ายเงินเป็นค่าสินไหมทดแทนหรือค่าชดเชยให้แก่รัฐ คำวินิจฉัยอาจจะให้คุณแก่บุคคลหรือแก่รัฐบาลของบุคคลนั้นก็ได้ หากคำวินิจฉัยให้คุณแก่รัฐบาล การแจกจ่ายคำวินิจฉัยให้ตกเป็นเรื่องของเขตอำนาจภายใน

ความสำคัญ การให้ค่าสินไหมทดแทนนี้เป็นวิธีการเรียกค่าเสียหายระหว่างรัฐที่ตัดสินใจใช้เทคนิควิธีทางกฎหมายเพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างกันโดยสันติวิธี ก็จะมีคอมโพรมิส หรือข้อตกลงอนุญาโตตุลาการขั้นต้นก่อน ซึ่งในข้อตกลงนี้จะมีการกำหนดหลักการทั่วไปและหลักเกณฑ์เฉพาะที่ศาลจะนำมาใช้เป็นแนวทางในการให้คำวินิจฉัย ภายใต้หลักการ “เรสจูดิคาตา” (คำพิพากษาถึงที่สุด) กำหนดไว้ว่า คำวินิจฉัยของอนุญาโตตุลาการนี้ให้ถึงที่สุดและให้มีผลผูกพัน เว้นเสียแต่ว่าคู่กรณีจะยินยอมตกลงกันให้มีการรื้อฟื้นคดีขึ้นมาใหม่ หรือคำตัดสินของอนุญาโตตุลาการเป็นโมฆะเนื่องจากศาลฯ ใช้อำนาจเกินกว่าที่ได้กำหนดไว้ในข้อตกลงอนุญาโตตุลาการขั้นต้น

Legal Settlement : Compromise

การระงับข้อพิพาทโดยทางกฎหมาย:ข้อตกลงกำหนดหลักเกณฑ์ประนีประนอมเบื้องต้น

ข้อตกลงเบื้องต้นระหว่างคู่กรณีพิพาทเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ที่จะนำมาใช้สำหรับการอนุญาโตตุลาการข้อพิพาท ข้อตกลงกำหนดหลักเกณฑ์ประนีประนอมจะกำหนดขอบเขตอำนาจของศาลอนุญาโตตุลการดังนี้ (1) ให้คำจำกัดความเรื่องที่พิพาท (2) กำหนดหลักการที่จะนำมาใช้ทางศาล และ (3) กำหนดหลักเกณฑ์วิธีดำเนินที่จะนำมาใช้ในการตัดสินคดี หากมีปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่งที่เกี่ยวกับเขตอำนาจศาลเกิดขึ้น ก็ให้ศาลอนุญาโตตุลาการเป็นผู้ตัดสินตามกฎเกณฑ์ของข้อตกลงเบื้องต้น (คอมโพรมิส) อย่างไรก็ตามคำวินิจฉัยหรือการตัดสินของอนุญาโตตุลาการอาจเป็นโมฆะได้หากศาลอนุญาโตตุลาการใช้อำนาจเกินกว่าที่คู่กรณีได้ตกลงเอาไว้ในข้อตกลงเบื้องต้น

ความสำคัญ ในการตัดสินใจให้ระงับข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการนั้น หมายถึงว่า (1) จะต้องเกิดกรณีพิพาทระหว่างประเทศขึ้นมา และ (2) มีความจำเป็นต้องเจรจาในเรื่อง ข้อตกลงกำหนดหลักเกณฑ์ประนีประนอมเบื้องต้นเสียก่อน ว่าโดยหลักแล้วการอนุญาโตตุลาการจะเกิดขึ้นไม่ได้หากไม่มีการทำข้อตกลงกำหนดหลักเกณฑ์ประนีประนอมเบื้องต้นกันเสียก่อน ไม่ว่าการอนุญาโตตุลาการนั้นจะเป็นเรื่องเฉพาะกิจหรือเป็นเรื่องบังคับตามที่ได้กำหนดไว้ในสนธิสัญญาแบบทวิภาคีหรือพหุภาคีที่มีอยู่ก่อน เมื่อข้อพิพาทเกิดขึ้นมาความตึงเครียดระหว่างทั้งสองฝ่ายก็จะเพิ่มขึ้น ทำให้คู่กรณีพิพาทยากที่ทำความตกลงในข้อตกลงกำหนดหลักเกณฑ์เบื้องต้นตามเงื่อนไขของการอนุญาโตตุลาการนั้นได้ ในกรณีเช่นว่านี้การอนุญาโตตุลาการจะกระทำได้สะดวกหากมีสนธิสัญญาอนุญาโตตุลาการระหว่างกันอยู่ก่อน ซึ่งอนุสัญญาเช่นนี้จะช่วยแก้ไขในเรื่องวิธีปฏิบัติขั้นพื้นฐานที่ปรากฎอยู่ในข้อตกลงกำหนดหลักเกณฑ์ประนีประนอมเบื้องต้นได้

Legal Settlement : Justicialbe and Nonjusticiable Disputes

การระงับข้อพิพาทโดยทางกฎหมาย : ข้อพิพาททางกฎหมาย และข้อพิพาทที่มิใช่ทางกฎหมาย


กฎเกณฑ์ที่เกิดจากมีข้อพิพาทระหว่างประเทศที่แตกต่างกัน เป็นข้อพิพาททางกฎหมายและข้อพิพาททางการเมือง ข้อพิพาททางกฎหมาย คือ ข้อพิพาทที่ใช้วิธีทางกฎหมายเข้าระงับ กล่าวคือ โดยอนุญาโตตุลาการ และโดยการตัดสินของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ส่วนข้อพิพาทที่มิใช่ทางกฎหมายหรือทางการเมืองนั้นคือ ข้อพิพาทที่ใช้วิธีการทางการเมืองเข้าระงับ คือ (1) โดยการทูตแบบทวิภาคี (2) โดยการใช้สื่อกลาง (3) โดยการไกล่เกลี่ย (4) โดยการสืบสวน และ (5) โดยการประนอม

ความสำคัญ การที่ข้อพิพาทใด ๆ จะเป็นข้อพิพาททางกฎหมายหรือไม่นั้น มิได้ขึ้นอยู่กับลักษณะของข้อพิพาท แต่ขึ้นอยู่กับความสำคัญของประเด็นที่มีต่อคู่กรณีพิพาทที่เกี่ยวข้อง และขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของคู่กรณีว่าจะใช้บรรทัดฐานการระงับข้อพิพาทแบบใดในสองบรรทัดฐานนั้น แนวความคิดของการระงับข้อพิพาทโดยสันติด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการมีลักษณะคลุมเครือในช่วงทศวรรษต้น ๆ ของคริสตศตวรรษที่ 20 ดังจะเห็นได้จากตัวอย่าง คือ (1) มีการตั้งศาลอนุญาโตตุลาการถาวร (ปี ค.ศ. 1899) (2) มีสนธิสัญญาอนุญาโตตุลาการรู้ท(ปี ค.ศ. 1908) และ(3) มีสนธิสัญญาอนุญาโตตุลาการทัฟท์–น็อกซ์ (ปี ค.ศ. 1911) อย่างไรก็ตามข้อแตกต่างระหว่างข้อพิพาททางกฎหมายกับข้อพิพาททางการเมืองเกิดขึ้นก็เพราะว่ารัฐต่าง ๆ ต้องการจะหลีกหนีคำตัดสินข้อพิพาททางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเอกราชแห่งชาติและผลประโยชน์ที่สำคัญอย่างยิ่งของตนนั้นเอง การที่รัฐต่าง ๆ ไม่ต้องการแก้ไขข้อพิพาทโดยทางกฎหมายนั้นไม่ได้หมายความว่าไม่มีกฎหมายที่จะสามารถนำไปใช้กับข้อพิพาทแต่อย่างใด

Legal Settlement : Permanent Court of Arbitration

การระงับข้อพิพาทโดยทางกฎหมาย : ศาลอนุญาโตตุลาการถาวร

คณะลูกขุนที่ได้รับการรับรองในระดับนานาชาติ ซึ่งพร้อมที่จะทำหน้าที่เป็นอนุญาโตตุลาการ ศาลอนุญาโตตุลาการถาวร ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่กรุงเฮก ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้รับการจัดตั้งขึ้นมาโดย อนุสัญญาเพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศโดยสันติวิธี ที่ได้รับการยอมรับและแก้ไขปรับปรุงโดยที่ประชุมสันติภาพกรุงเฮกปี ค.ศ. 1899 และปี ค.ศ. 1907 คณะอนุญาโตตุลาการที่ประจำอยู่ประกอบด้วยลูกขุนจำนวน 4 คนซึ่งมีความสามารถทางกฎหมายอย่างยอดเยี่ยมที่ได้รับการแต่งตั้งจากภาคีผู้ลงนามแต่ละชาติ คู่กรณีพิพาทแต่ละฝ่ายจะทำการเลือกลูกขุนอีกฝ่ายละ 2 คน ซึ่งในสองคนนี้จะเป็นคนสัญชาติตนได้เพียงคนเดียวเท่านั้น จากนั้นลูกขุนจำนวน 4 คนที่ได้รับการคัดเลือกจากคู่กรณีพิพาทดังกล่าว ก็จะทำการตัดเลือกลูกขุนคนที่ 5 ให้มาทำหน้าที่เป็นประธานผู้ชี้ขาด จากที่กล่าวมานี้แสดงให้เห็นว่า ศาลอนุญาโตตุลาการนี้มิได้เป็นศาลประจำแต่อย่างใด แต่เป็นคณะลูกขุนที่ศาลเลือกมาเท่านั้นเอง คู่กรณีพิพาทจะดำเนินการดังนี้: (1) ค้นหาประเด็นเรื่องที่พิพาทกัน (2) ขีดวงจำกัดอำนาจหน้าที่ของศาล และ (3) ตกลงกันว่าคำตัดสินของศาลที่กระทำภายในขอบเขตจำกัดเหล่านี้จะได้รับการยอมรับว่ามีผลผูกพันตามกฎหมาย

ความสำคัญ คุณค่าสำคัญของศาลอนุญาโตตุลาการถาวร มิใช่อยู่ที่เขตอำนาจของศาลฯ แต่อยู่ที่เป็นศาลที่มีอยู่ก่อนเกิดข้อพิพาท และเป็นกลไกที่พร้อมจะให้ใช้ตัดสินข้อพิพาทใด ๆ ได้ทันที อย่างไรก็ตามภาคีผู้ลงนามอนุสัญญาว่าด้วยการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศโดยสันติวิธีฉบับนี้ ไม่มีพันธกรณีว่าจะต้องใช้บุคลากรและวิธีดำเนินของศาลอนุญาโตตุลาการถาวรนี้แต่อย่างใด คู่กรณีพิพาทจะตัดสินใจเองเป็นกรณี ๆ ไป เพียงแต่พฤติกรรมของคู่กรณีพิพาทจะถูกควบคุมโดยสนธิสัญญาอนุญาโตตุลาการที่มีอยู่ก่อนหรือโดยข้อกำหนดที่ว่าด้วยอนุญาโตตุลาการที่มีอยู่ในสนธิสัญญาอย่างอื่น สนธิสัญญาอนุญาโตตุลาการส่วนใหญ่จะเอาอย่างสนธิสัญญาอังกฤษ – ฝรั่งเศสปี ค.ศ. 1903 ที่กำหนดไว้ว่า หากมีความเห็นไม่ลงรอยกันเกี่ยวกับลักษณะทางกฎหมายและเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการตีความสนธิสัญญา ก็ให้นำไปให้ศาลอนุญาโตตุลาการถาวรเป็นผู้พิจารณา ในสนธิสัญญาอนุญาโตตุลาการส่วนใหญ่ ปกติจะไม่ข้องแวะเรื่องต่อไปนี้ (1) ผลประโยชน์ที่สำคัญยิ่ง (2) เอกราชหรือเกียรติภูมิของคู่กรณี และ (3) ผลประโยชน์ของฝ่ายที่สาม ในทางปฏิบัติของสหรัฐอเมริกานั้น วุฒิสภาของสหรัฐถือว่าการตัดสินใจแต่ละครั้งที่จะให้มีการอนุญาโตตุลาการภายใต้สนธิสัญญาทั่วไปนั้น เป็นสนธิสัญญาอีกประเภทที่จะต้องขอความเห็นชอบจากวุฒิสภาเสียก่อน ศาลอนุญาโตตุลาการถาวรกรุงเฮก เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามในช่วงแรก ๆ ที่จะสร้างระบบการระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศโดยสันติวิธีด้วยวิธีทางการทางนิติศาสตร์ และเป็นศาลนำร่องให้แก่ ศาลยุติธรรมถาวรระหว่างประเทศ (พีซีไอเจ) ระหว่างยุคสันนิบาตชาติ และเป็นศาลนำร่องให้แก่ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) ของสหประชาชาติ

Legal Settlement : Sanctions

การระงับข้อพิพาทโดยทางกฎหมาย : การบังคับ

บทลงโทษอันเป็นผลจากความประพฤติผิดกฎหมาย การบังคับในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คือ ความพยายามร่วมกันของประชาคมระหว่างประเทศในอันที่จะบังคับให้รัฐที่ละเมิดกฎหมายหันมาปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ เมื่อเทคนิควิธีทางการทูตและทางการเมืองที่นำมาใช้ระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศประสบกับความล้มเหลว อำนาจหน้าที่ที่จะใช้การบังคับมีอยู่ในกติกาสันนิบาตชาติและในกฎบัตรสหประชาชาติ

ความสำคัญ ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จะไม่มีฝ่ายบริหารมาทำหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย เพราะฉะนั้นการบังคับจะเป็นผลขึ้นมาหรือไม่ขึ้นอยู่กับระดับของฉันทามติในประชาคมระหว่างประเทศ และขึ้นอยู่กับความมุ่งมั่นของแต่ละชาติสมาชิกของระบบรัฐว่าจะยอมรับความรับผิดชอบที่จะส่งเสริมกฎหมายหรือไม่ หากจะให้ทางบังคับนี้เกิดประสิทธิผลขึ้นมาได้นั้น ทางบังคับที่จะนำมาใช้นั้นก็จะต้องสร้างความลำบากให้แก่รัฐผู้ละเมิดยิ่งกว่าความลำบากที่จะเกิดขึ้นกับรัฐผู้ใช้ทางบังคับนี้