Google

Thursday, October 8, 2009

International Court of Justice

ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

องค์กรฝ่ายตุลาการหลักของสหประชาชาติ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศรับช่วงการทำงานต่อจากศาลยุติธรรมถาวรระหว่างประเทศ (ซีพีไอเจ) ที่ดำเนินการอยู่ในช่วงปี ค.ศ. 1922-1946 สมาชิกของสหประชาชาติทุกชาติย่อมเป็นภาคีแห่งธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศโดยอัตโนมัติ และสมัชชาใหญ่โดยการเสนอแนะของคณะมนตรีความมั่นคงจะกำหนดเงื่อนไขให้รัฐที่มิได้เป็นสมาชิกของสหประชาชาติ เช่น สวิตเซอร์แลนด์ เป็นต้น(ปัจจุบันสวิตเซอร์แลนด์เป็นสมาชิกของสหประชาชาติแล้ว) เป็นภาคีแห่งธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีอำนาจที่จะพิจารณาพิพากษาอรรถคดีใด ๆ ที่รัฐคู่กรณีพิพาทนำมาให้ศาลฯ พิจารณา ซึ่งรัฐคู่กรณีได้ยอมรับอำนาจฯ ของศาลภายใต้ข้อกำหนดที่เลือกได้ (ออฟชั่นนัลคลอส) ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศก็ยังอาจให้ความเห็นเป็นข้อแนะนำในปัญหาทางกฎหมายที่มีการสอบถามมาจากรัฐ จากองค์กรหลักของสหประชาชาติ และจากทบวงการชำนัญพิเศษส่วนใหญ่ของสหประชาชาติได้ด้วย ส่วนในการพิพากษานั้น ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศจะใช้ (1) สนธิสัญญา (2) จารีตประเพณีระหว่างประเทศ (3) หลักการทั่วไปของกฎหมาย และ (4) คำพิพากษาของศาล และคำสอนหรือคำบรรยายของนักกฎหมายระหว่างประเทศที่ทรงภูมิความรู้ แต่ทั้งนี้ศาลฯ ต้องได้รับความเห็นพ้องจากคู่กรณีเสียก่อน ศาลด้วยความเห็นพ้องของคู่กรณีอาจจะตัดสินพิพากษาโดยยึดหลักแอคิวโอเอ็ตโบโน (คือ อิงหลักความยุติธรรมและความถูกต้องยิ่งกว่าจะอิงหลักกฎหมาย) ก็ได้ คำตัดสินพิพากษาจะใช้หลักคะแนนเสียงข้างมาก และไม่สามารถอุทธรณ์ได้ คณะมนตรีความมั่นคงและสมัชชาใหญ่จะแยกกันลงคะแนนเสียงเลือกผู้พิพากษา 15 คน ให้มาดำรงตำแหน่งวาระละ 9 ปี โดยให้มีการเลือกตั้งผู้พิพากษาจำนวน 5 คนในทุก 3 ปี และทุกคนมีสิทธิ์ที่จะได้รับเลือกตั้งเข้ามาใหม่ได้อีก มาตรา 9 ของธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้กำหนดให้ผู้พิพากษาได้รับการเลือกสรรโดยอิงคุณสมบัติส่วนบุคคล กับควรเป็นผู้แทนของรูปแบบแห่งอารยธรรมหลัก ๆ และเป็นผู้แทนของระบบกฎหมายหลักของโลกอีกด้วย

ความสำคัญ ที่ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้รับการก่อตั้งขึ้นมานี้ ถือได้ว่าเป็นความพยายามที่จะนำหลักนิติธรรมมาใช้แทนการใช้กำลังในการแก้ไขข้อพิพาทระหว่างประเทศ ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศได้พิจารณาคดีพิพาทมากกว่า 50 คดี โดยได้ตัดสินพิพากษาคดีไปแล้ว 23 คดี และได้ให้ความเห็นทางกฎหมายเป็นจำนวน 20 ราย อย่างไรก็ตามศาลยุติธรรมระหว่างประเทศยังไม่เคยระงับกรณีระหว่างประเทศที่สำคัญใด ๆ ได้ ทั้งนี้เพราะว่ารัฐต่าง ๆ ไม่ต้องการจะสูญเสียผลประโยชน์ที่สำคัญอย่างยิ่งยวดของตนจากคำพิพากษาของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศและเพราะรัฐตกลงกันไม่ได้เกี่ยวกับบรรทัดฐานที่ศาลจะทำมาใช้ด้วย ความมีอิสระในทางตุลาการของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ถึงบางคราวจะมีการตั้งคำถามกันว่าศาลน่าจะมีความลำเอียงบ้างละกระมัง แต่ก็ไม่สามารถนำข้อกล่าวหานั้นมาลบล้างความมีอิสระของศาลฯ ได้ อย่างไรก็ตามข้อพิจารณาทางการเมืองต่าง ๆ เป็นต้นว่าควรหรือไม่ที่จะให้ประเทศนั้นประเทศนี้เป็นตัวแทนในองค์กรหลักอื่น ๆ ของสหประชาชาติก็มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจคัดเลือกผู้พิพากษาได้เหมือนกัน นอกจากนี้แล้วสมัชชาใหญ่และคณะมนตรีความมั่นคงก็ยังได้ใช้หลักการกระจายไปตามภูมิภาคอย่างยุติธรรมกับการคัดเลือกผู้พิพากษา ถึงแม้ว่าบรรทัดฐานข้อนี้จะมิได้มีการกำหนดไว้ในศาลยุติธรรมระหว่างประเทศก็ตาม นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีแนวปฏิบัติอีกด้วยว่าจะตั้งคนสัญชาติของสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคง 5 ชาติเป็นผู้พิพากษาอย่างต่อเนื่องด้วย มิใยว่าจะมีบรรทัดฐานทางธรรมนูญกำหนดไว้สำหรับการคัดเลือกผู้พิพากษาดีถึงปานนี้ แต่ก็ยังมีหลายรัฐในทวีปแอฟริกาและทวีปเอเชีย แสดงความไม่พึงพอใจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ โดยกล่าวหาว่าคนจากทวีปแอฟริกาและจากทวีปเอเชียที่ได้รับการคัดเลือกมาเป็นผู้แทนเข้าไปนั่งเป็นผู้พิพากษามีจำนวนไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตามการมีศาลยุติธรรมระหว่างประเทศขึ้นมาเช่นนี้ นับได้ว่าเป็นจุดสูงสุดในความพยายามของระบบรัฐปัจจุบัน ที่จะพัฒนาวิธีปฏิบัติในการแก้ไขข้อพิพาทระหว่างประเทศโดยทางศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

No comments:

Post a Comment