Google

Thursday, October 8, 2009

Internatonal Lawmaking : War Crimes Trials

การบัญญัติกฎมายระหว่างประเทศ : การพิจารณาคดีอาชญากรรมสงคราม

การพิจารณาคดีของบุคคลจากรัฐที่แพ้สงครามเพื่อกำหนดโทษและบทลงโทษของบุคคลไม่ใช่ของชาติในฐานะที่ประกอบอาชญากรรมในระหว่างสงครามหรือในฐานะที่เป็นผู้ก่อสงคราม สนธิสัญญาแวร์ซายส์หลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่งได้วางไว้เป็นบรรทัดฐานกำหนดให้มีการพิจารณาคดีและทำการลงโทษจักรพรรดิเยอรมันและบุคคลในกองทัพเยอรมันแต่ฝ่ายพันธมิตรมิได้ดำเนินการพิจารณาคดีแต่อย่างใด หลังสงครามโลกครั้งที่สองอาชญากรสงครามเยอรมันคนสำคัญจำนวน 22 คน ถูกศาลทหารระหว่างประเทศ พิจารณาคดีที่เมืองนูเรมเบิร์ก ซึ่งศาลทหารฯ คณะนี้ประกอบด้วยคณะลูกขุนจากอังกฤษ ฝรั่งเศส สหภาพโซเวียต และสหรัฐอเมริกา จำเลยถูกกล่าวหาว่ามีความผิดฐาน (1) ประกอบอาชญากรรมต่อต้านสันติภาพ (2) ประกอบอาชญากรรมสงคราม และ (3) ประกอบอาชญากรรมต่อต้านมนุษยชาติ จำเลย 12 คนถูกตัดสินให้ประหารชีวิต 7 คนได้รับโทษจำคุก ส่วนอีก 3 คนพ้นผิด ภายใต้กฏบัตรศาลทหารระหว่างประเทศสำหรับตะวันออกไกลนั้นมีอาชญากรสงครามญี่ปุ่นคนสำคัญ ๆ ถูกพิจารณาคดีในกรุงโตเกียวด้วยข้อหาทำนองเดียวกับที่นูเรมเบิร์ก โดยคณะลูกขุนที่เป็นตัวแทนของ 11 ประเทศที่ทำสงครามกับญี่ปุ่น

ความสำคัญ การพิจารณาคดีอาชญากรสงครามที่นูเรมเบิร์กและที่โตเกียว เป็นการเปิดหน้าใหม่ในการพัฒนากฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสงคราม ก่อนหน้าสงครามโลกครั้งที่หนึ่งและสงครามโลกครั้งที่สองนั้นมีกฎหมายจารีตประเพณีกำหนดไว้ว่า เมื่อสงครามยุติลงแล้วก็ให้ทำการนิรโทษกรรมแก่บุคคลที่เป็นศัตรูทั้งปวงซึ่งได้กระทำความผิดเกี่ยวกับการรับราชการทหารของพวกเขาเสีย แต่จากความเหี้ยมโหดของสงครามเบ็ดเสร็จก็ดี และจากความเกลียดชังกันอย่างเข้ากระดูกดำอันเกิดจากความขัดแย้งทางด้านอุดมการณ์ก็ดี ทำให้มีคนตั้งคำถามขึ้นว่าการให้นิรโทษกรรมนี้จะมีการนำกลับมาใช้กันอีกหรือไม่ปฏิกิริยาทางกฎหมายต่อการพิจราณาคดีที่นูเรมเบิร์กและที่โตเกียวมีแตกต่างกันไป การวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการตัดสินคดีด้วยข้อหาว่าประกอบอาชาญกรรมสงครามและข้อหาว่าประกอบอาชญากรรมต่อต้านมนุษยชาตินั้นมีน้อย เนื่องจากมีกฎหมายจารีตประเพณีได้ให้การรับรองสิทธิของผู้ชนะให้สามารถพิจารณาลงโทษบุคคลในกองทัพของศัตรูในโทษฐานละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศได้ แต่แนวความคิดที่ว่าจำเลยมีโทษฐานประกอบอาชญากรรมต่อต้านสันติภาพนั้นเป็นการเปิดข้อกล่าวหาใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนหน้านี้ ได้มีการยกประเด็นปัญหาทางกฎหมายขึ้นมาถามในส่วนที่เกี่ยวกับข้อกล่าวหาว่าประกอบอาชญากรรมต่อต้านสันติภาพดังนี้ (1) เราจะสามารถแสดงข้อแตกต่างระหว่างสงครามรุกรานที่ถือว่าเป็นอาชญากรรม กับอาชญากรรมที่กระทำในช่วงที่เกิดสงครามได้อย่างกระจ่างชัดหรือไม่ (2) กติกาสัญญาเคลลอกก์–บริอังด์ ที่ทำให้สงครามรุกรานเป็นสิ่งผิดกฎหมายนั้นมีความหมายบ่งบอกให้บุคคลต้องรับผิดชอบในอาชญากรรมด้วยใช่หรือไม่ (3) ข้อแตกต่างระหว่างสงครามรุกรานกับสงครามป้องกันตัวมีความกระจ่างชัดพอที่จะนำมาใช้ประเมินความรับผิดชอบทางด้านอาชญากรรมของบุคคลได้หรือไม่ และ (4) ศาลที่เมืองนูเรมเบิร์กซึ่งประกอบด้วยคณะลูกขุนจากแค่ 4 รัฐเท่านั้น จะถือว่าเป็นศาลระหว่างประเทศที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาคมโลกได้หรือไม่ สหประชาชาติได้พยายามหาทางสร้างความถูกต้องทางกฎหมายให้แก่หลักการที่ว่าบุคคลจะต้องรับผิดชอบต่ออาชญากรรมที่ใช้เป็นรากฐานสำหรับพิจารณาคดีอาชญากรรมสงคราม โดยการพัฒนาหลักกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยอาชญากรรมต่อต้านสันติภาพและต่อต้านความมั่นคงของมนุษยชาติขึ้นมา สมัชชาใหญ่ได้มอบหมายให้คณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ (ไอแอลซี) ทำการตระเตรียมร่างหลักการนี้ แต่ปัญหาการพัฒนาคำนิยามของคำว่า “การรุกราน” ให้เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไปก็ได้มาเป็นตัวสกัดกั้นมิให้กระบวนการในเรื่องนี้คือหน้าต่อไปได้

No comments:

Post a Comment