Google

Tuesday, October 6, 2009

Jurisdiction : Outer Space

เขตอำนาจ : อวกาศ

เขตอำนาจระหว่างประเทศเหนือพื้นที่นอกน่านฟ้า แม้ว่าจะไม่มีรัฐใดใช้เขตอำนาจเหนืออวกาศ แต่เรื่องอวกาศนี้ก็เป็นเรื่องที่ประชาคมระหว่างประเทศได้ให้ความสนใจมากยิ่งขึ้นเรื่องหนึ่ง นับตั้งแต่ดาวเทียมจากโลกดวงแรกได้ถูกส่งไปโคจรรอบโลกเมื่อปี ค.ศ. 1957 ในปี ค.ศ. 1959 สหประชาชาติได้จัดตั้งคณะกรรมาธิการถาวรว่าด้วยการใช้อวกาศโดยสันติขึ้นมา ในปี ค.ศ. 1961 สมัชชาใหญ่ได้ประกาศโดยเอกฉันท์ว่า “กฎหมายระหว่างประเทศรวมถึงกฎบัตรสหประชาชาติให้ใช้กับอวกาศและเทหวัตถุบนฟากฟ้าต่าง ๆ ด้วย” และว่า “อวกาศและเทหวัตถุบนท้องฟ้าเปิดกว้างเพื่อการสำรวจและการใช้ให้แก่ทุกรัฐโดยสอดคล้องกับกฎหมายระหว่างประเทศ และจะต้องไม่ตกอยู่ในการถือครองของชาติใด ๆ “ ในปี ค.ศ. 1963 หลักการเหล่านี้ได้รับการสนับสนุนจากปฏิญญาแห่งหลักการทางกฎหมายที่ใช้ควบคุมกิจกรรมในอวกาศ ซึ่งกำหนดไว้ดังนี้ : (1) การสำรวจและการใช้อวกาศจะต้องเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของมนุษยชาติทั้งปวง (2) รัฐที่ดำเนินกิจกรรมดังกล่าวจะต้องมีภาระรับผิดชอบระหว่างประเทศต่อการกระทำดังกล่าวของตน (3) กิจกรรมในอวกาศทั้งปวงจะต้องดำเนินไปตามหลักของความร่วมมือและการให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน (4) รัฐที่ส่งวัตถุหรือบุคคลขึ้นไปในอวกาศย่อมมีเขตอำนาจเหนือวัตถุหรือบุคคลนั้นขณะอยู่ในอวกาศ และขณะเมื่อกลับคืนมาสู่โลกไม่ว่าจะตกลงมาอยู่ที่จุดใด (5) รัฐมีภาระจะต้องชดใช้สำหรับความสูญเสียใด ๆ อันจะเกิดบนโลก ในน่านฟ้าหรือในอวกาศ อันมีสาเหตุมาจากวัตถุที่ตนส่งขึ้นไปในอวกาศนั้น และ (6) นักบินอวกาศให้ถือว่าเป็นทูตของมวลมนุษย์ในอวกาศ และในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุรัฐทั้งปวงก็จะต้องให้ความช่วยเหลือแก่พวกเขาและให้รีบส่งตัวพวกเขาคืนให้แก่รัฐที่เป็นเจ้าของยานอวกาศ หลักการเหล่านี้มีอยู่ในสนธิสัญญาว่าด้วยอวกาศซึ่งได้รับการยอมรับโดยสมัชชาใหญ่เมื่อปี ค.ศ. 1966 และมีผลบังคับใช้สำหรับรัฐที่ให้สัตยาบันเมื่อปี ค.ศ. 1967

ความสำคัญ อวกาศและน่านฟ้าได้รับการรับรองในกฎหมายระหว่างประเทศว่าเป็นเขตสองเขตที่มีความแตกต่างกัน แต่ก็ยังไม่มีการแบ่งเขตให้เป็นที่แน่ชัด ผู้รู้บางท่านได้ให้คำนิยาม “น่านฟ้า” ว่า พื้นที่สำหรับใช้บินของอากาศยาน ดังนั้นอวกาศก็คือพื้นที่ที่พ้นจากอำนาจอธิปไตยของรัฐชาติ ส่วนน่านฟ้าอยู่ภายในเขตอำนาจขององค์อธิปัตย์เหนือดินแดนที่อยู่เบื้องล่างนั้น หลักการเหล่านี้ที่มีอยู่ในปฏิญญาต่าง ๆ ของสหประชาชาติเป็นแต่เพียงข้อเสนอแนะ จวบจนกระทั่งสนธิสัญญาว่าด้วยอวกาศได้รับการให้สัตยาบันเมื่อปี ค.ศ. 1967 ถึงแม้ว่าสนธิสัญญาฉบับนี้จะพยายามทำให้อวกาศเป็นเรื่องระหว่างประเทศและพยายามทำให้เกิดความมั่นใจว่าการสำรวจและการใช้อวกาศจะเป็นไปโดยสันติ แต่จากข้อพิจารณาทางด้านการทหารของสหรัฐอเมริกาและอดีตสหภาพโซเวียตได้มาทำลายวัตถุประสงค์ของสนธิสัญญาไปเสียสิ้น หากอำนาจระหว่างประเทศสามารถควบคุมการใช้อวกาศได้อย่างมีประสิทธิผลก็จะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในโลกนี้ได้

No comments:

Post a Comment