Google

Thursday, October 8, 2009

Internation Law

กฎหมายระหว่างประเทศ

ระบบของกฎเกณฑ์ว่าด้วยสิทธิและหน้าที่ของรัฐในความสัมพันธ์ระหว่างกัน กฎหมายระหว่างประเทศตั้งอยู่บนพื้นฐานของแนวความคิดว่าด้วยความเสมอภาคทางด้านอำนาจอธิไตยของรัฐและอิงอาศัยข้อตกลงระหว่างรัฐในขั้นสุดท้าย ที่มาของกฎหมายระหว่างประเทศมีดังนี้ คือ (1) สนธิสัญญาหรือข้อตกลงแบบทวิภาคีหรือแบบพหุภาคีระหว่างรัฐ (2) จารีตประเพณีระหว่างประเทศที่มีหลักฐานว่ามีการปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่องยาวนานจนได้รับการยอมรับเป็นข้อผูกพัน (3) หลักกฎหมายทั่วไปที่อิงอาศัยแนวความคิดต่าง ๆ อาทิ ความยุติธรรม ความเที่ยงธรรม และศีลธรรมจริยธรรมที่นานาอารยประเทศให้การรับรอง และ (4) ที่มาของกฎหมายอื่น ๆ ที่ปรากฎอยู่ในคำพิพากษาของศาลและคำสอนของนักกฎหมายที่ได้รับการรับรองจากนานาชาติ ถึงแม้ว่ากฎหมายระหว่างประเทศจะถูกนำมาใช้โดยศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ แต่ก็มักจะถูกตีความและนำไปใช้โดยศาลภายในชาติอยู่ด้วยเหมือนกัน กฎหมายระหว่างประเทศในระยะเริ่มแรกนั้นอิงอาศัยหลักเกณฑ์มาตั้งแต่ยุคก่อน ๆ แต่ต่อมาได้พัฒนาขึ้นมาในระบบรัฐสมัยใหม่นับแต่ “สันติภาพแห่งเวสต์ฟาเลีย” เมื่อปี ค.ศ. 1648 เป็นต้นมา ฮูโก กรอติอุส ผู้ประพันธ์ตำราที่มีชื่อเสียงชื่อ เด เจอเรอ เบลลี เอต พาซิส (กฎหมายยามสงครามและสันติ) (ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 1625) มักจะได้รับการยอมรับว่าเป็นบิดาแห่งกฎหมายระหว่างประเทศสมัยใหม่

ความสำคัญ กฎหมายระหว่างประเทศจะกำหนดแนวทางปฏิบัติและเทคนิควิธีที่รัฐสามารถนำมาใช้แก้ไขข้อพิพาทระหว่างกันด้วยการใช้บรรทัดฐานความประพฤติที่ได้ตกลงกันไว้แล้วยิ่งกว่าจะหันไปใช้กำลังต่อกัน แต่ด้วยเหตุที่ว่าระบบรัฐสมัยใหม่ได้พัฒนาขึ้นมาเป็นครั้งแรกในแถบยุโรปตะวันตก ดังนั้นกฎหมายระหว่างประเทศที่มีสมมติฐานว่าสามารถนำไปใช้ได้ทั่วทุกหนทุกแห่งนั้นส่วนใหญ่แล้วเป็นผลผลิตของวัฒนธรรมของฝ่ายตะวันตก แต่ปัจจุบันประชาคมแห่งรัฐได้เติบโตขึ้นมากกว่าสองเท่านับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองเป็นต้นมา และสมาชิกส่วนใหญ่ของประชาคมรัฐนี้ ก็ประกอบด้วยรัฐที่เกิดขึ้นมาใหม่ทั้งในทวีปเอเชียและทวีปแอฟริกา ซึ่งเป็นดินแดนที่มีส่วนน้อยมากหรือไม่มีส่วนเลยในการพัฒนากฎเกณฑ์ของกฎหมายระหว่างประเทศที่มีอยู่ในปัจจุบัน ผลที่ตามมาก็คือ หลายรัฐที่ไม่ได้อยู่ในฝ่ายตะวันตก รวมตลอดไปจนถึงรัฐที่มีการปกครองตามระบอบคอมมิวนิสต์ ได้ทำการท้าทายรูปแบบปัจจุบันของกฎหมายระหว่างประเทศในหลายลักษณะด้วยกัน การท้าทายเหล่านี้มีรากเหง้ามาจากความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรมและด้านอุดมการณ์ มาจากความหยิ่งผยองในชาตินิยม และมาจากการต่อต้านกฎเกณฑ์ต่างๆที่อดีตเจ้าอาณานิคมในอดีตสร้างขึ้นมา ด้วยเหตุนี้ปัญหาสำคัญในการจัดตั้งกฎเกณฑ์ทางกฎหมายระหว่างชาติ ก็คือ การสร้างระบบกฎหมายระหว่างประเทศขึ้นมาใหม่อันเป็นระบบที่ทุกชาติสามารถยอมรับได้ องค์การต่างๆของสหประชาติ กล่าวคือ คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม คณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ และคณะกรรมาธิการพิเศษต่างๆ ต่างก็มุ่งหน้าไปสู่ทิศทางดังกล่าว กระบวนการที่ได้นำมาใช้ในเรื่องนี้ ก็คือ การพยายามที่จะทำประมวลกฎหมายที่มีอยู่แล้ว และพยายามที่จะสร้างกฎหมายใหม่ขึ้นมาโดยผ่านทางสนธิสัญญา เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาคมแห่งรัฐทั่วโลก

No comments:

Post a Comment