Google

Thursday, October 8, 2009

International Lawmaking : Law of the Sea

การบัญญัติกฎหมายระหว่างประเทศ : กฎหมายทะเล

กฎเกณฑ์ทางกฎหมายระหว่างประเทศ ที่กำหนดเกี่ยวกับสิทธิและหน้าที่ทางทะเลของรัฐ กฎหมายทะเลซึ่งเป็นสาขาที่เก่าแก่ที่สุดของกฎหมายระหว่างประเทศนั้น ได้วิวัฒนาการมาจากจรรยาบรรณโบราณที่อิงอาศัยจารีตประเพณีในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและหน้าที่ของพ่อค้าและเจ้าของเรือ บรรทัดฐานเดิมที่มีอยู่ก่อนกฎหมายทะเล ได้แก่ (1) กฎหมายโรเดียน (คริสตศตวรรษที่ 9) (2) ตาบูลา อมัลฟิตานา (คริสตศตวรรณที่ 11) (3) กฎหมายแห่งโอลีรอน (คริสตศตวรรษที่ 12) (4) กฎหมายวิสบี (คริสตศตวรรษที่ 13 และ 14) และ (5) คอนโตดาโตเดล แมเร (คริสตศตวรรษที่ 14) ที่มาของกฎหมายทะเลได้แก่ (1) จารีตประเพณีระหว่างประเทศ (2) การบัญญัติกฎหมายภายในชาติ (3) สนธิสัญญา และ (4) ผลงานของการประชุมระหว่างประเทศด้วยเรื่องเรื่องเหล่านี้

ความสำคัญ กฎหมายทะเลอิงหลักพื้นฐาน 2 หลัก คือ (1) หลักเสรีภาพของทุกรัฐที่จะใช้ทะเลหลวงโดยปราศจากการแทรกแซง และ (2) หลักความรับผิดชอบของแต่ละรัฐที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยทางทะเล แต่ละรัฐมีอำนาจศาลเหนือเรือของตนที่อยู่ภายในน่านน้ำอาณาเขตของตน เรือที่อยู่ในน่านน้ำอาณาเขตของรัฐต่างชาติยังคงอยู่ภายใต้เขตอำนาจศาลของรัฐที่เรือนั้นติดธง เว้นเสียแต่ว่าเรือนั้นจะคุกคามความสงบและความเรียบร้อยของรัฏฐาธิปัตย์ชายผั่ง การประชุมที่เจนีวาปี ค.ศ. 1958 (ยูเอ็นซีแอลโอเอส – วัน) และการประชุมที่เจนีวาปี ค.ศ. 1960 (ยูเอ็นซีแอลโอเอส – ทู) เป็นการเพิ่มเติมกฎหมายทะเลด้วยอนุสัญญาต่าง ๆ คือ (1) อนุสัญญาว่าด้วยการให้นิยามของเส้นฐานที่ใช้วัดทะเลอาณาเขตและเขตต่อเนื่อง (2) อนุสัญญาว่าด้วยการสัญจรผ่านโดยบริสุทธิ์ (3) อนุสัญญาว่าด้วยการสำรวจอาหารและแร่ธาตุจากดินใต้ผิวดินของเขตไหล่ทวีปและจากท้องทะเล และ (4) อนุสัญญาว่าด้วยการอนุรักษ์ชีวิตสัตว์และพืชในทะเล ส่วนการประชุมกฎหมายระหว่างประเทศระลอกใหม่เกิดขึ้นระหว่างปี ค.ศ. 1973 ถึง 1982 (ยูเอ็นซีแอลโอเอส – ทรี) ได้มีข้อตกลงต่าง ๆ คือ (1) ข้อตกลงว่าด้วยเขตอำนาจศาลของชาติเหนือทะเลอาณาเขต 12 ไมล์ (2) ข้อตกลงว่าด้วยสิทธิของรัฐชายฝั่งเหนือเขตเศรษกิจจำเพาะสองร้อยไมล์ (อีอีเอฟ) และ (3) ข้อตกลงว่าด้วยการสัญจรผ่าน สัญจรเหนือ หรือสัญจรใต้ช่องแคบที่ใช้สำหรับการสัญจรระหว่างประเทศ ส่วนเรื่องที่ยังตกลงกันไม่ได้ก็คือ เรื่องที่เกี่ยวกับลักษณะของการควบคุมเหนือการทำเหมืองแร่ในทะเลลึกและการเข้าไปใช้ทรัพยากรทางทะเลในรูปแบบอื่น ๆ นอกเขตเศรษฐกิจจำเพาะสองร้อยไมล์ ประเด็นที่ยังตกลงกับยังไม่ได้นี้ได้ผูกโยงไว้กับขอบเขตของอำนาจที่จะมอบให้แก่องค์การท้องทะเลระหว่างประเทศแห่งสหประชาชาติที่ได้รับการเสนอให้จัดตั้งขึ้นมา ซึ่งองค์การฯ นี้จะทำหน้าที่ควบคุมการสำรวจและการเข้าไปใช้ทรัพยากรในทะเลลึก เมื่อสามารถบรรลุข้อตกลงในเรื่องสำคัญต่อไปนี้ได้แล้ว คือ (1) การลงคะแนนเสียง (2) การออกใบอนุญาต และ (3) การเก็บค่าภาคหลวง รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ไม่พอใจกับข้อกำหนดดังกล่าวจึงได้ปฏิเสธอนุสัญญาว่าด้วยกฎหมายทะเลแห่งสหประชาชาติปี ค.ศ. 1982

No comments:

Post a Comment