กฎหมายระหว่างประเทศ : อำนาจอธิปไตย
อำนาจการตกลงใจและการบังคับใช้การตกลงใจขั้นสุดท้ายที่เป็นเจ้าของโดยรัฐและมิใช่โดยสถาบันทางสังคมอื่น ๆ หลักแห่งอำนาจอธิปไตยนี้ได้เกิดขึ้นมาในคริสตศตวรรษที่ 16 เพื่อใช้ปกป้องสิทธิของพระมหากษัตริย์ ในความมีอำนาจเหนือดินแดนโดยสมบูรณ์ จากการอ้างของพวกเจ้าท้องถิ่นที่มีอำนาจน้อยกว่า จากพระสันตปาปา และจากองค์จักพรรดิโรมันศักดิ์สิทธิ์ เมื่อสงครามสามสิบปียุติลง (ค.ศ. 1618 – 1648) หลักอำนาจอธิปไตยได้กลายเป็นข้อเท็จจริงทางการเมืองที่ได้รับการยอมรับ และประชารัฐสมัยใหม่ก็ได้กลายมาเป็นหน่วยที่มีความสำคัญที่สุดขององค์การทางการเมืองในโลก แต่อำนาจอธิปไตยนี้มิได้มีความหมายว่ารัฐมีอิสระที่จะกระทำการใด ๆ ได้อย่างสมบูรณ์ ทว่าการกระทำของรัฐจะอยู่ภายใต้เงื่อนไขข้อกำหนดของกฎหมายระหว่างประเทศและของกฎเกณฑ์ขององค์การระหว่างประเทศอีกหลายแห่งที่รัฐมีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ภายใต้ทฤษฎีที่ว่าอำนาจสูงสุดสามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยความยินยอม นอกจากนั้นแล้วอำนาจอธิปไตยก็ยังหมายถึงความเสมอภาคของรัฐ แต่เป็นความเสมอภาคในความหมายที่ว่ามีขีดความสามารถที่จะมีสิทธิและมีพันธกรณี รัฐที่มีอำนาจอธิปไตยยังถูกจำกัดไม่ให้มีอิสระในการกระทำจากข้อจำกัดที่ไม่เป็นทางการต่าง ๆ ที่ระบบรัฐนำมาบังคับ เพื่อที่ว่ารัฐต่าง ๆ จะต้องใช้ขีดความสามารถที่แตกต่างกันนั้นให้สอดประสานกลมกลืนกันกับวัตถุประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งที่กำหนดไว้เป็นการเฉพาะนั้น
ความสำคัญ หลักแห่งอำนาจอธิปไตยหมายถึงการกระจายอำนาจในประชาคมแห่งรัฐ และเป็นการให้ความชอบธรรมในอิสรภาพของแต่ละรัฐที่จะตัดสินใจได้โดยอิสระ แต่หลักอำนาจอธิปไตยนี้ได้ถูกโจมตีจากพวกที่อ้างว่าหากปล่อยให้รัฐดำเนินการเพื่อรักษาผลประโยชน์ของตนโดยไม่มีสิ่งใดคอยฉุดรั้งไว้บ้างแล้วก็จะเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดสงครามขึ้นมาได้ และจากพวกที่มีความเห็นว่า ระบบรัฐที่มีการรวมอำนาจมาก ๆ จะใช้เป็นทางควบคุมความสัมพันธ์ระหว่างรัฐได้ อำนาจอธิปไตยของรัฐเข้ากันไม่ได้กับระบบรัฐในแบบรวมอำนาจ เช่นเดียวกับอำนาจอิสระของพวกขุนนางในระบบศักดินาก็เข้ากันไม่ได้กับระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เพราะฉะนั้นตราบใดที่หลักการอำนาจอธิปไตยยังคงมีอยู่ กฎหมายระหว่างประเทศก็จะเป็นระบบกฎหมายที่กระจายอำนาจมีความอ่อนแอเมื่อเทียบกับระบบกฎหมายภายในของสมาชิกของประชาคมระหว่างประเทศแต่ละชาติ ในทางทฤษฎีนั้นบูรณาการของประชาคมโลกไม่สามารถจะก้าวพ้นขั้นตอนของสมาพันธรัฐไปได้ ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างคือ สหประชาชาติ เพราะว่าในการยึดหลักอำนาจอธิปไตยของรัฐนั้นมีกฎเกณฑ์ว่าอำนาจการตัดสินใจสุดท้ายจะต้องอยู่กับสมาชิกของกลุ่มต่อไป นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สองยุติลงเป็นต้นมา ได้มีการยอมสละลักษณะบางอย่างของอำนาจอธิปไตยให้แก่ระดับภูมิภาค พร้อม ๆ กับที่ได้มีการพัฒนาองค์การระดับภูมิภาคต่าง ๆ ขึ้นมา อาทิ ประชาคมเศรษฐกิจยุโรป (อีอีซี) แต่ทว่าบูรณาการทางการเมืองขั้นสุดท้ายของ 6 รัฐแรกเริ่มของประชาคมเศรษฐกิจยุโรปยังไม่สามารถเกิดขึ้นมาได้ เพราะถูกขัดขวางจากแนวความคิดเรื่องอำนาจอธิปไตยของรัฐและสัทธิชาตินิยมที่มีพลังอย่างรุนแรง ดังมีตัวอย่าง คือ แนวความคิด “ยุโรปแห่งปิตุภูมิทั้งหลาย” ของชาร์ล เดอ โกลล์ เป็นต้น ส่วนในที่แห่งอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ประเทศเก่า ๆ นั้น ลัทธิชาตินิยมและความขัดแย้งทางคุณค่าต่าง ๆ เป็นตัวการทำให้การยึดติดอยู่ในหลักการอำนาจอธิปไตยนี้มีความเหนียวแน่นมากยิ่งขึ้น เมื่อชาติใหม่ ๆ ทั่วโลกได้เอกราชกันแล้วก็ได้นำเรื่องนี้ไปย้ำเตือนในสหประชาชาติว่า พวกตนยึดมั่นอยู่กับแนวความคิดเรื่องความเสมอภาคแห่งรัฐมีอำนาจอธิปไตย อำนาจอธิปไตยจึงเป็นลักษณะสำคัญยิ่งของประชาคมทางการเมืองในทุกระดับ ทั้งนี้เพราะไม่ว่าจะเป็นระดับใดต่างก็จะต้องมีอำนาจในการออกกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายสูงสุดเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น
No comments:
Post a Comment