อำนาจศาลโดยการบังคับ
อำนาจศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ที่จะพิจารณาและพิพากษาคดีบางคดีโดยไม่จำเป็นต้องให้คู่กรณีตกลงล่วงหน้าว่าจะยอมรับอำนาจศาลในแต่ละคดี ธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศมีข้อกำหนดว่าด้วยอำนาจศาลโดยการบังคับนี้ ใน “ข้อกำหนดที่เลือกได้ (ออฟชั่นนัลคลอส) (มาตรา 36) ซึ่งมีข้อความระบุไว้ว่า “รัฐที่เป็นภาคีแห่งธรรมนูญนี้อาจแถลงในเวลาใด ๆ ได้ว่าตนยอมรับการบังคับของศาลโดยพฤตินัยและโดยปราศจากข้อตกลงพิเศษ ซึ่งอำนาจของศาลในความสัมพันธ์กับรัฐอื่น ซึ่งยอมรับพันธกรณีอย่างเดียวกัน เขตอำนาจศาลที่เกี่ยวกับกรณีพิพาททางกฎหมายมีดังนี้ คือ (1) การตีความสนธิสัญญา (2) ปัญหาทางกฎหมายระหว่างประเทศ (3) ความมีอยู่แห่งข้อเท็จจริงใด ๆ ซึ่งหากพิจารณาแล้วจะเป็นการละเมิดพันธกรณีระหว่างประเทศ และ (4) สภาพและจำนวนของค่าทดแทนค่าเสียหายที่จะต้องชดใช้ในกรณีละเมิดพันธกรณีระหว่างประเทศ“
ความสำคัญ เขตอำนาจศาลโดยการบังคับจะอิงข้อตกลงล่วงหน้า เป็นเรื่องที่ถูกออกแบบมาเพื่อเอื้ออำนวยให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างประเทศโดยสันติวิธี ด้วยการให้มีการยอมรับเป็นการล่วงหน้าว่า จะยอมรับเทคนิควิธีทางกฎหมายมาใช้ระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศกัน อย่างไรก็ตามเขตอำนาจศาลโดยการบังคับนี้มีความศักดิ์สิทธิ์ลดลงเนื่องจาก “ข้อสงวน” ที่รัฐต่าง ๆ ตั้งขึ้นมาเมื่อตอนที่ยอมรับ “ข้อกำหนดที่เลือกได้” นี้ กระนั้นก็ตามเขตอำนาจศาลโดยการบังคับยังได้รับการระบุไว้ในสนธิสัญญาระหว่างประเทศกว่า 600 ฉบับ ซึ่งมีข้อความระบุไว้ว่า หากเกิดปัญหาในการตีความและในการใช้สนธิสัญญา ก็พึงให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศทำการตัดสิน ระบบกฎหมายภายในประเทศจะทำงานอย่างมีประสิทธิผลไม่ได้หากว่าศาลยุติธรรมภายในประเทศขาดเขตอำนาจศาลโดยการบังคับ แต่ในกรณีของระบบระหว่างประเทศนั้น แนวความคิดที่ให้ใช้วิธีทางกฎหมายแก้ไขกรณีพิพาทโดยนำมาให้ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศพิจารณานั้น เป็นการขัดต่อหลักการมีอธิปไตยของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐและท่านผู้รู้ทั้งหลายยังคงให้การสนับสนุนให้ชาติทั้งหลายทั้งปวงสมัครใจที่จะยอมรับเขตอำนาจศาลโดยการบังคับนี้เป็นเครื่องมือสำหรับใช้แก้ไขข้อพิพาทและสร้างเสถียรภาพให้แก่ระบบกฎหมายของโลก
No comments:
Post a Comment