Google

Thursday, October 8, 2009

International Lawmaking : International Law Commission (ILC)

การบัญญัติกฎหมายระหว่างประเทศ : คณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศ (ไอแอลซี)

หน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นมาโดยสมัชชาใหญ่เมื่อปี ค.ศ. 1947 เพื่อให้ความช่วยเหลือสมัชชาใหญ่ในการดำเนินความรับผิดชอบที่ได้รับจากกฎบัตรสหประชาชาติ (มาตรา 13) ที่ว่า “ให้ทำการริเริ่มศึกษาและให้คำเสนอแนะ …เพื่อส่งเสริมการพัฒนาความก้าวหน้าของกฎหมายระหว่างประเทศและการทำประมวลกฎหมายระหว่างประเทศนี้” คณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญทางด้านกฎหมายระหว่างประเทศจำนวน 21 คน ซึ่งเป็นตัวแทนของระบบกฎหมายหลักและรูปแบบแห่งอารยธรรมต่าง ๆ ของโลก คณะกรรมาธการกฎหมายระหว่างประเทศได้รับการคัดเลือกโดยยึดหลักกระจายทางภูมิศาสตร์ที่เท่าเทียมกัน จะปฏิบัติหน้าที่วาระละ 5 ปีในฐานะเอกชนยิ่งกว่าจะในฐานะผู้แทนของรัฐบาล คณะกรรมาธิการฯ จะเสนอรายงานต่าง ๆ ถึงสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ และเสนอร่างอนุสัญญาต่าง ๆ พร้อมกับให้คำแนะนำให้สมัชชาใหญ่จัดการประชุมนานาชาติเพื่อพิจารณาร่างอนุสัญญาเหล่านั้น เมื่อได้มีการปฏิบัติเช่นนี้แล้วการประชุมก็จะยอมรับ “สนธิสัญญาสร้างกฎหมาย” ที่ผูกพันต่อรัฐที่ได้ให้สัตยาบัน คณะกรรมาธิการฯ จะดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ เช่น (1) การรับรอง (2) การสืบทอดของรัฐ (3) ความคุ้มกันจากเขตอำนาจศาล (4) ทะเลหลวง (5) ความรับผิดชอบของรัฐ และ (6) วิธีพิจารณาความแบบอนุญาโตตุลาการ

ความสำคัญ คณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศนี้มีคุณูปการที่สำคัญในด้านทำประมวลกฎหมาย ยิ่งกว่าในด้านการพัฒนาระบบบรรทัดฐานสากลระบบใหม่ ระบบกฎหมายระหว่างประเทศในปัจจุบัน ส่วนใหญ่แล้วเป็นผลผลิตของรัฐเก่าที่สร้างขึ้นมาเพื่อผลประโยชน์ของรัฐเก่าและรัฐเก่าเหล่านี้ก็ไม่ต้องการเห็นมันเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รัฐที่ไม่อยู่ในกลุ่มตะวันตกและรัฐที่ปกครองตามระบอบคอมมิวนิสต์บางรัฐเห็นว่ากฎหมายระหว่างประเทสในปัจจุบันมีกำเนิดที่ตะวันตก เพราะฉะนั้นจึงได้เรียกร้องให้มีระบบ “ที่มีความทันสมัย” เพื่อนำมาใช้กับ “ความเป็นจริงทางการเมืองในปัจจุบัน” คณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศมีแนวโน้มว่าจะไม่สามารถสร้างระบบสากลแบบใหม่ขึ้นมาได้ จนกว่าจะเกิดฉันทามติทางการเมืองในระดับโลกเกี่ยวกับฐานที่จะนำมาใช้รองรับระบบ ในขณะที่คณะกรรมาธิการกฎหมายระหว่างประเทศดำเนินการทำประมวลกฎหมายที่มีอยู่ให้คืบหน้าต่อไปอยู่นั้น ก็มีกฎหมายใหม่เกี่ยวกับเรื่องต่าง ๆ เป็นต้นว่า กฎหมายว่าด้วยการจราจรบนท้องถนน กฎหมายว่าด้วยเสรีภาพทางสารสนเทศได้เกิดขึ้นมาในรูปของร่างอนุสัญญาจากหน่วงงานอื่น ๆ เช่น คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนคณะกรรมาธิการคณะต่าง ๆ ของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคม

No comments:

Post a Comment